การคุกคามเขตแดนทางทะเลจากเรือประมงต่างชาติ | ณัชชา สุขะวัธนกุล
เป็นที่ทราบกันดีว่า น่านน้ำของไทยนั้นถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่อาณาเขตทางทะเล หลากหลายส่วนแตกต่างกันไป บ้างเป็นพื้นที่ที่รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเต็ม บ้างก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐ
การทำกิจกรรมประมงร่วมกันกับรัฐอื่น หรือการอนุญาตให้รัฐอื่นทำประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทย ในปัจจุบันอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีมีข้อตกลง หรือมีความร่วมมือกันระหว่างรัฐภายใต้กรอบของความตกลง สนธิสัญญาและกรอบของกฎหมาย เช่น กฎหมายในระดับสากลอย่างอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (The United Nation Convention of the Law of the Sea; UNCLOS)
รวมถึงกฎหมายภายในเกี่ยวกับการทำประมงของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติเรือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 และ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นต้น อันสืบเนื่องมาจากการที่ความต้องการบริโภคสัตว์น้ำและทรัพยากรพันธุ์ปลาที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางทะเล ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำประมงในเขตน่านน้ำไทย เช่น ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หน่วยลาดตระเวนทหารเรือและกองเรือไทย ประกาศถึงการจับกุมเรือประมงจากประเทศเพื่อนบ้านขณะแอบเข้ามาคราดปลิงทะเล
อีกทั้งลักลอบจับปลามังกร ในบริเวณห่างจากปากแม่น้ำบางนรา จ.นราธิวาส ประมาณ 26 ไมล์ทะเล และในพื้นที่บริเวณเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศเหนือประมาณ 40 ไมล์ทะเล พร้อมรวบตัวลูกเรือต่างชาติ
การเข้าตรวจสอบกลุ่มเรือประมงต่างชาติ การไล่จับกุมเรือ เมื่อมีการหลบหนีจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงเตือนตามหลักการตรวจค้นของกองทัพเรือแต่ก็ไม่เป็นผล อีกทั้งยังเร่งเครื่องหนีและปล่อยเชือกลากบริเวณท้ายเรือเป็นอุปสรรคต่อการไล่ติดตาม มีเหตุการณ์ที่จุดไฟเผาเรือและลูกเรือกระโดดลงทะเล
ทั้งนี้ ได้ช่วยเหลือลูกเรือขึ้นเรือและควบคุมตัวกลับมายังท่าเทียบเรือประมงนราธิวาสเพื่อทำการสอบสวนและดำเนินคดี และเนื่องจากเป็นการจับกุมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะจึงได้ตั้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดไว้ 5 ข้อหา ดังนี้
การร่วมกันทำการประมงพาณิชย์โดยไม่มีใบอนุญาตทำการประมง (ตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 129 วรรคสอง) ทำการประมงในเขตการประมงไทยโดยทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต (ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 11 วรรคหนึ่ง) เป็นคนต่างด้าวร่วมกันทำหน้าที่เป็นลูกเรือในเรือประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต (ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 มาตรา 5 ทวิ มาตรา 11 ทวิ)
รวมถึงการไม่เข้าออกตามช่องด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานีหรือท้องที่ที่กำหนด ไม่เข้าออก ตามเวลาที่กำหนด (พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 62) และการเข้ามาหรือออกไปโดยไม่ยื่นรายการและไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมือง (พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 62)
เป็นที่น่าสังเกตและพิจารณาว่า ในยุคปัจจุบันยังมีเรือประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศซึ่งมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคในด้านต่าง ๆ กับประเทศไทยยังคงเข้ามาทำการประมงโดยรุกล้ำน่านน้ำไทย เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทางน้ำของตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ และความมั่งคั่งทางทะเลที่มีความตกลงร่วมกันมาและการพัฒนาต่อไปในด้านอื่น ๆ
ทั้งยังขัดกับหลักการสร้างความมั่งคั่งทางทะเล (Blue Economy) ของธนาคารโลกอันเป็นแนวนโยบายสากลเป็นอย่างมาก หากแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยความต้องการบริโภคสัตว์ทะเลแปลกและความชอบเฉพาะตัวก็ยังเปิดช่องทางให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่เนืองๆ
เมื่อวิเคราะห์จากการที่เรือประมงจากประเทศเพื่อนบ้านได้พุ่งชนเรือทำความเสียหายต่อเรือของกองทัพเรือนั้น ถือเป็นการกระทำที่รุนแรง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมากองทัพเรือได้ทำการจับกุมอย่างละมุนละม่อมโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง โดยได้เพิ่มความเข้มงวดตามมาตรการในการจับกุมให้มากขึ้น
แต่เนื่องจากเรือประมงต่างชาติกลุ่มนี้อาจจะมีสายข่าว ที่คอยแจ้งเตือนเมื่อเจ้าหน้าที่จะออกดำเนินการจับกุม รวมถึงในยุคปัจจุบันเรือประมงที่ลักลอบเข้ามา ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่มีศักยภาพที่สามารถตรวจจับเรือของเจ้าหน้าที่ของไทยได้เมื่ออยู่ในระยะใกล้ก่อนเข้าจับกุม จึงทำให้เรือประมงกลุ่มนี้มีเวลาเพียงพอในการหลบหนี
ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์การก้าวไปในยุคแห่งความล้ำสมัยและการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ การรักษารากฐานทางการค้าและผลผลิตจากอุตสาหกรรมประมงแห่งน่านน้ำไทยให้คงอยู่อย่างมั่งคง เบื้องต้นการดำเนินการในทางกระบวนการยุติธรรมยังคงต้องมีอยู่ต่อไป เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายไทยและผลักดันผู้กระทำความผิดและเรือที่ชักธงสัญชาติดังกล่าวกลับประเทศต่อไป
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งแม้ในปัจจุบันจะได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว อาจต้องเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น อาทิเช่น การเพิ่มสายข่าวซึ่งเป็นกลุ่มชาวประมงของไทยในการแจ้งข้อมูล เพิ่มเทคโนโลยีเพื่อติดตามจับกุมเรือประมงที่รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในประเทศ เพื่อปกป้องและรักษาทรัพยากรทางทะเลของประเทศให้ได้อย่างเต็มความสามารถ
รวมถึงในระดับความรับรู้ในเวทีโลกและในภูมิภาคอาเซียน ควรจัดให้มีการประสานความร่วมมือในทางกฎหมาย ซึ่งมีการบังคับใช้และมีบทลงโทษระหว่างรัฐต่อความผิดดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย
มิเช่นนั้นเมื่อมีกรณีการกระทำความผิดก็จะต้องอาศัยความเกี่ยวพันกับรัฐเจ้าของธงเป็นหลัก ทำให้มิอาจปราบปรามขบวนการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย โดยอาศัยกฎหมายของราชอาณาจักรไทยได้อย่างเต็มที่.
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0
อาจารย์ ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์