นายกฯญี่ปุ่นรุกอาเซียน จับมือไทยรุกอุตสาหกรรม EV - BCG
“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบฯรับนายกญี่ปุ่นพร้อมคณะนักธุรกิจ หารือกรอบความร่วมมือ 4 ด้าน พร้อมหารือประเด็นเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว - BCG ดึงลงทุนอุตฯเป้าหมายยกระดับซัพพายเชน ดันนโยบายรถ EV พร้อมลงนามความร่วมมือร่วมกัน 4 ฉบับ ครอบคลุมการเงิน ศก. ความมั่นคง และสาธารณสุข
อาเซียนถือเป็นภูมิภาคสำคัญของฐานการผลิตโลก ซึ่งทำให้ “คิชิดะ ฟูมิโอะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางเยือนอาเซียน 3 ประเทศ โดยเยือนอินโดนีเซียวันที่ 29-30 เม.ย.2565 เยือนเวียดนามวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.2565 และเยือนไทยวันที่ 1-2 พ.ค.2565 ซึ่งทั้ง 3 ประเทศถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของญี่ปุ่น
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) โดยการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีคิชิดะภายหลังเข้ารับตำแหน่ง และถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปี ของผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นับตั้งแต่การเยือนของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ เมื่อปี 2556
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสพิเศษเพราะปีนี้ เป็นปีที่ ครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและญี่ปุ่น รวมถึงอยู่ในห้วงที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ปี 2564-2567) ตลอดจนเป็นโอกาสที่ไทยจะยืนยันความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในช่วงปลายปีนี้
สำหรับการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดหารือข้อราชการกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 2 พ.ค.2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การพัฒนาอนุภูมิภาค ภูมิภาค และความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูภายใต้ความท้าทาย
รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นการเดินทางมาเยือนไทยและภูมิภาคอาเซียนเป็นครั้งแรกหลังจากที่รับตำแหน่ง โดยกำหนดเยือนจะเดินทางไปยังประเทศที่เป็นคู่ค้า และฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นพร้อมกับคณะนักธุรกิจ โดยเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับประเทศที่มีบทบาทกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอาเซียน
รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และกำลังเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19
สำหรับการเดินทางของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะในครั้งนี้จะเดินทางมายังประเทศไทย เดินทางต่อไปยังเวียดนาม และอินโดนิเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ประเทศ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (กระทรวงเมติ) ได้เดินทางไปเยือนก่อนหน้าแล้ว
ทั้งนี้ในวันที่ 2 พ.ค.2565 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเดินทางไปยังสถาบันโคเซ็น (KOSEN) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากนั้นจะเดินทางไปยังสถานทูตญี่ปุ่นเพื่อประชุมร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ก่อนที่จะเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีของไทยในช่วงบ่ายของวันที่ 2 พ.ค.นี้
สำหรับการหารือประเด็นต่างๆที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ ได้มีวางกรอบในการหารือไว้ 4 กรอบหลัก ได้แก่
1.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 2.ความร่วมมือทางด้านความมั่นคง 3.สถานการณ์ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค 4.สถานการณ์ในต่างประเทศ
รวมทั้งการหารือทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ จะเป็นการหารือเรื่องความร่วมมือที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือกันต่อเนื่องได้แก่ การเชื่อมโยงแนวคิดการเติบโตเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth) ของญี่ปุ่น กับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) ซึ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นให้ความสนใจแนวคิดนี้เนื่องจากกำลังปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตไปในการลดก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์
นอกจากนั้นจะมีหารือกันในเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการให้ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุน หรือปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการยกระดับการผลิตในประเทศไทย
รวมถึงการหารือถึงการผลิตใน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ประเทศไทยได้มีการชักชวนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยล่าสุด “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพิ่งไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นและได้มีการนำเสนอประเด็นนี้ให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบถึงนโยบายการส่งเสริมเรื่องนี้ของไทย
ส่วนเรื่องการพัฒนาฐานการผลิตและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะช่วยเสริมห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่นในอนาคต จะอยู่ในส่วนของการหาเรื่องในเรื่องกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ไทยกับญี่ปุ่นจะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับญี่ปุ่นใน 4 ด้าน ได้แก่ ความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาคน ความร่วมมือทางด้านการเงิน ความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคง และความร่วมมือทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นในการควบคุมการระบาดของโควิด-19