กรมการขนส่งทางบก เปิดโครงการ ”DLT- ECONDRIVE" ขับขี่ปลอดภัยอุ่นใจผู้ใช้ถนน
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จับมือ กรมการขนส่งทางบก เปิดโครงการ ”DLT- ECONDRIVE ขับขี่ปลอดภัยอุ่นใจผู้ใช้ถนน” โดยกรมขนส่งฯเผย เตรียมเพิ่มทักษะ "การคาดการณ์อุบัติเหตุ” (Hazard Perception) ในการสอบใบอนุญาตขับขี่ เพื่อช่วยรถอุบัติเหตุทางถนนในอนาคต
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อมด้วยนางสาวจิตวดี เพ็งมาก นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมเป็นประธาน เปิดโครงการ โครงการ “DLT- ECONDRIVE ขับขี่ปลอดภัยอุ่นใจผู้ใช้ถนน” จัดขึ้น อาคาร 4 กรมการขนส่งทางบก โดยมีผู้บริหาร กรมการขนส่งทางบกเข้าร่วม และมีผู้สื่อข่าว สมาชิกของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เข้าร่วมโครงการรวม 34 คน
นายจิรุตม์ กล่าวว่า ระบบออกใบอนุญาตขับรถ เป็นกระบวนการสำคัญที่กรมการขนส่งทางบกใช้คัดกรอง และสร้างคุณภาพของผู้ขับรถออกสู่สังคม เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เกิดความปลอดภัย และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการคัดกรองนั้น ผู้ขับรถต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคต้องห้าม มีสมรรถภาพร่างกายที่สมบูรณ์ และมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน มีความรู้เพียงพอที่จะขับรถอย่างปลอดภัยโดยต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎีเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการขับรถอย่างปลอดภัย มี จิตสำนึกและมารยาท ความรู้เรื่องการจัดการเหตุฉุกเฉินและปฐมพยาบาล
รวมทั้งต้องมีทักษะในการควบคุมยานพาหนะซึ่งเกิดจากการเรียนและฝึกฝนปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในกระบวนการออกใบอนุญาตขับรถของกรมการขนส่งทางบก
โดยสำหรับในปี 2565 กรมการขนส่งทางบก จะมีการพัฒนา คือ สำคัญคือการนำเนื้อหาเรื่อง "การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)" เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถ ทั้งนี้ เนื้อหาดังกล่าวเป็นการให้ความรู้ในการตัดสินใจ และการควบคุมรถที่ถูกต้อง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินในกระแสจราจรที่มีรูปแบบแตกต่างกัน และฝึกทักษะให้สามารถคิดวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงจากสิ่งต่างๆ บนถนนได้ดียิ่งขึ้น สามารถตัดสินใจหลีกเลี่ยงได้ก่อนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้จัดทำขึ้นจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในสถานการณ์ต่างๆ ตามบริบทของประเทศไทย โดยจะทยอยนำเนื้อหาดังกล่าว
ประกอบในกระบวนการอบรมและทดสอบใบอนุญาตขับรถในปี 2565 นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ขับขี่ทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์มีความสามารถในการรับรู้ เท่าทันต่อความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนถนนได้ ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตขับรถไปใช้รถจริงบนถนน ซึ่งการการเพิ่มทักษะใหม่ในการสอบใบขับขี่นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยน สำคัญในการพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถ และความพยายามของกรมการขนส่งทางบกในการยกระดับ ความปลอดภัยทางถนนของประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมการขนส่งทางบก ยังได้ปรับปรุงระบบออกใบอนุญาตขับรถ และต่อภาษี โดยนำระบบอิเลกทรอนิกส์ และออนไลน์มาใช้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยปัจจุบันพบว่า การเปิดอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถได้แล้ว ผ่านระบบ DLT e-learning ผ่านเว็บไซต์ www.dlt-elearning.com ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้สอบใบอนุญาต โดยพบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการอบรมผ่านระบบออนไลน์ สะสมแล้ว 6,224,337 คน โดยเป็น ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกว่า 5,027,858 คน หลังจากโครงการเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2563
ด้านนางสาวจิตวดี เพ็งมาก นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจกล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ด้านข่าวเศรษฐกิจ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็น ในการเผยแพร่ความรู้ การปรับปรุง เพิ่มเนื้อหาการสอบใบอนุญาตขับขี่ โดยเฉพาะ "การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception) ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ ที่จำเป็นต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม
โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจเผยแพร่ความรู้ต่อสมาชิกผู้สื่อข่าว และสำนักข่าว เพื่อรับไปเผยแพร่เป็นข่าวสาร ทำความเข้าใจกับภาคสังคมซึ่งที่ผ่านมา อุบัติเหตุสำคัญ ที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจต่อผู้คนในสังคมโดยรวม เกิดการสูญเสียบุคลากร ที่เป็นทรัพยากรที่มีค่า เช่น กรณีรถบิ๊กไบค์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” แพทย์ผู้ชำนาญการ ด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิต สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์กระแสจราจรในเมืองของไทย จำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้ เกี่ยวกับ โดยเฉพาะ "การคาดการณ์อุบัติเหตุ” (Hazard Perception) เพื่อให้ผู้ขับรถตระหนักและเพิ่มทักษะ ในการป้องกันอุบัติเหตุด้วยตนเอง