ต้นทุนค่าเสียโอกาสผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม
เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่าต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามและปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ลูกค้าต้องรีบตัดสินใจก่อนที่ต้นทุนค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้น
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่เรายังไม่รู้ว่าโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย -ยูเครนจะสิ้นสุดลงเมื่อไร? แต่เชื่อว่าสุดท้ายทุกอย่างต้องผ่านไปเหมือนฟ้าหลังฝนที่นำมาซึ่งแสงสว่าง หรือ ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ แม้ว่าแนวโน้มต้นทุนราคาค่าน้ำมัน วัสดุก่อสร้าง รวมถึงราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังมีดีมานด์คนอยู่ตลอดเวลาเพราะที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่
สอดคล้องกับที่ “อลงกต บุญมาสุข” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารพันธมิตรและส่งเสริมการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่อาศัยในไตรมาสสองน่าจะดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจาก ดีมานด์เริ่มกลับเข้ามาเพราะความมั่นใจของผู้บริโภคในการปรับชีวิตวิถีใหม่เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ดีขึ้น เมื่อโลกไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาก็ตาม
ทั้งนี้ เพราะเมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนเรื่องค่าแรงค่าวัสดุก่อสร้างที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยต้องปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นในการซื้อที่อยู่อาศัย นั้น ตนเองสามารถยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว กลายเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญให้ลูกค้าต้องรีบตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้นจากเดิมที่ลังเลและชะลอการตัดสินใจ เพราะมิเช่นนั้นลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น!
ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” (Opportunity Cost) คือ มูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่สูญเสียโอกาสไปในการเลือกทำกิจกรรมอย่างหนึ่งและเป็นแนวคิดที่สำคัญในการที่จะใช้เงินในกระเป๋าที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า ในปีนี้ตลาดบ้านแนวราบยังคงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยมากที่สุดในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะบ้านระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป จะเป็นตลาดที่มีดีมานด์สูง สวนทางตลาดระดับล่างยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย แม้ว่าจะมีสถาบันการเงินของรัฐรองรับไม่ว่าจะเป็นธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือธนาคารออมสิน ที่จะสนับสนุนก็ตาม
ขณะที่บ้านราคาแพง กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาให้การสนับสนุน ดังนั้นดีเวลลอปเปอร์จึงต้องจับมือกับสถาบันการเงินต่างๆ สร้างแคมเปญขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจในการซื้อบ้านเร็วขึ้น อาทิ โปรโมชั่น ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่นำมาใช้ทำมาร์เก็ตติ้งแคมเปญออกมาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าในห้วงเวลานี้
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น คาดว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสสอง น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป มีการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านเพิ่มขึ้น เพราะบ้านไม่ใช่แค่ที่พักอาศัยแต่ยังเป็นทั้งที่ทำงาน ที่เรียน ที่สังสรรค์สำคัญสำหรับผู้บริโภคในยุคนี้ ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสที่กลับมาฟื้นตัวและเติบโตอีกครั้ง