UPA ลุยขุดเหมืองคริปโท ดันขึ้นแท่นธุรกิจหลักปีนี้
"ยูพีเอ" ตั้งเป้าธุรกิจขุดคริปโทเติบโต พร้อมเดินหน้าทุ่ม “หมื่นล้าน”ลงทุนเพิ่ม 1.2 หมื่นเครื่อง หวังสร้างรายได้หลัก แซงหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เผยปีนี้มั่นใจผลประกอบการ "พลิกกำไร" หลังรับรู้โครงการทั้งหมด
เมื่อธุรกิจเดิม “อสังหาริมทรัพย์-โรงไฟฟ้า” ของ บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA ไม่สามารถผลักดันให้ผลการดำเนินงานขยายตัว “ก้าวกระโดด” สะท้อนผ่านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อ และทำให้อุตสาหกรรมชะลอลงทุน หรือหยุดลงทุน หลังสถานการณ์ต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยในการทำกิจกรรมทางธุรกิจ
สารพัดปัญหาดังกล่าวช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) นั่นคือ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” สะท้อนผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ใช้ “คริปโทเคอร์เรนซี” หรือ “การขุดเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี” ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) วงเงิน 25 ล้านดอลลาร์ หรือ 817.7 ล้านบาท
โดย UPA และ Asia Investment and Financial Services Sole Company Limited (AIFS) จะถือหุ้นร่วมกันในบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ (Singapore Holding) และ Singapore Holding จะถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Laos Holding) และ Laos Holding จะเข้าลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อถือหุ้นในบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใน สปป.ลาว เพื่อขอรับใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) สำหรับการทำธุรกิจเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี ในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
“กวิน เฉลิมโรจน์” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในแผนธุรกิจปี 2565 บริษัทมุ่งเน้นนโยบายลงทุน 2 ธุรกิจหลัก คือ “โรงไฟฟ้าและคริปโทเคอร์เรนซี” โดยวางเป้าหมายธุรกิจคริปโทฯ ในปีนี้เป็นธุรกิจหลักของบริษัท และ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และในปี 2566 คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้แตะ 70% ขณะที่โรงไฟฟ้าสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30%
สอดคล้องกับแผนลงทุนในการขุดเหมืองคริปโทฯ ในสปป.ลาว โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว จำนวน 30 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การซื้อไฟฟ้าจำนวน 20 เมกะวัตต์ ที่เหมืองที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ซึ่งสามารถรองรับเครื่องขุดคริปโทฯ ได้ถึง 6,000 เครื่อง และการซื้อไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ เพื่อสำรองการขยายโครงการ
ทั้งนี้ ในโมเดลลงทุนแรกบริษัทสั่งซื้อเครื่องขุดคริปโทฯ เพื่อมาติดตั้งที่เหมืองที่เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว เมื่อปลายเม.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 3,000 เครื่อง และภายในไตรมาส 2 ปี 2565 คาดว่าจะครบ 6,000 เครื่อง โดยมูลค่าลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ต่อจำนวน 6,000 เครื่องต่อกำลังผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ สำหรับรายได้ 3 เดือน คิดเป็นประมาณ 170 ล้านบาทต่อจำนวนเครื่องขุด 3,000 เครื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายลงทุนอีกที่เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว กำลังผลิตไฟฟ้า 40 เมะวัตต์ จำนวน 12,000 เครื่อง ซึ่งมูลค่าลงทุนเกือบ “หมื่นล้านบาท” ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจากับสถาบันการเงินต่างประเทศ 1 ราย คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปครึ่งปีแรก 2565 หรือ อีกโมเดลบริษัทจะเป็นคนจัดหาสถานที่และรับผิดชอบค่าไฟฟ้า คนงาน และค่าใช้จ่าย ๆ อื่น และหาคนมาลงทุนเครื่องขุดเหมือง โดยจะแบ่งสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้า แต่เงินลงทุนเครื่องขุดคริปโทฯ ไม่เพียงพอ
“สปป.ลาวเป็นประเทศที่กำลังผลิตไฟฟ้าเหลือมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ประมาณ 800-1,000 เมกะวัตต์ และทางการมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจคริปโทฯ สะท้อนผ่านการสำรองไฟฟ้าในการทำธุรกิจดังกล่าวไว้แล้ว”
เขา บอกต่อว่า บริษัทยังคงมองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ในการขยายการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สะท้อนผ่านพาร์ทเนอร์สปป.ลาว มีไลเซ่นส์ลงทุน “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset Exchange) ที่สปป.ลาว ซึ่งตอนนี้กำลังหาทีมงานที่มีประสบการณ์มาร่วมมือกันลงทุน เนื่องจากหากลงทุนเองตั้งแต่เริ่มต้นคงต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างรายได้ ดังนั้น พาร์ทเนอร์จึงเดินทางมาคุยกับเอ็กซ์เชนจ์สินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายในไทย ซึ่งตอนนี้กำลังสรุปคาดว่าปีนี้น่าจะมีความชัดเจน แต่หากจะเปิดให้บริการคาดว่าต้องใช้เวลา หรือหากเจรจากันได้ข้อสรุปอาจจะยกทั้งแพลตฟอร์มมาเปิดให้บริการได้ทันทีในสปป.ลาว
“สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่ เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจเหมืองขุดคริปโท ยังเติบโตได้ มองว่าจำนวนเหรียญยังมีเพียงพอในการขุดได้ ในอีก 100 ปีข้างหน้า”
ขณะที่ธุรกิจเดิมของบริษัทอย่าง “ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด” ยังคงลงทุนต่อเนื่องในปี 2565 ทั้งในและต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นรายได้ประจำที่เข้ามาสม่ำเสมอ และต่อเนื่องไปอีกยาว แต่เป็นรายได้ที่ไม่ได้เติบโตหวือหวา โดยบริษัทกำลังศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ประเทศเวียดนาม กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ มูลค่า 700-800 ล้านบาท ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 2 หรือ 3 ปี 2565 โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตรวม 80.4 เมกะวัตต์ หากบริษัทลงทุนเวียดนามเพิ่มจะทำให้มีกำลังผลิตรวม 130 เมกะวัตต์
ขณะที่ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ตั้งเป้าขายอสังหาฯ ในพอร์ตให้หมดภายในปีนี้ โดยคาดว่าในปีหน้าจะไม่ธุรกิจอสังหาฯ ในพอร์ตรวมของบริษัท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทหยุดลงทุนอสังหาฯ ทั้งหมด เหลือโครงการที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่เจอโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถทำการตลาด ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาขายทั้งโครงการคาดว่าจะใกล้ปิดดีลแล้ว และยังมี
“ที่ดินเปล่า” ที่เขาใหญ่ มูลค่าราว 100 ล้านบาท และที่ดินจังหวัดพังงาอีก 18 ไร่ ราคาไร่ละประมาณ 20 ล้านบาท (ราคาประเมินของที่ดิน) คาดว่าบริษัทจะขายทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันกำลังเจรจาขายทั้งหมด
และอีกหนึ่งธุรกิจลงทุน “ธุรกิจกัญชงและกัญชา” ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้น 14% ซึ่งปัจจุบันมีความล่าช้าในส่วนของรายได้ เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางไปเจรจากับลูกค้า เนื่องจากหลักผลิตภัณฑ์จะส่งออก
สำหรับ เป้าหมายรายได้ปี 2565 บริษัทตั้งเป้าพลิก “กำไร” และคาดมีรายได้ 1,000 ล้านบาท หลังจากที่ผ่านมามีการปรับลดต้นทุนและในปีนี้ธุรกิจโรงไฟฟ้าจะสร้างรับรู้รายได้เข้ามาทั้ง 100% ของกำลังการผลิตทั้งหมด รวมทั้งการเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ
ท้ายสุด “กวิน” บอกไว้ว่า การเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนี้เป็นอย่างดี และใช้เวลามาระยะหนึ่งแล้ว เราเชื่อว่าจะช่วยเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจ และเพิ่มยอดรายได้และกำไรให้แข็งแกร่ง นอกเหนือจากธุรกิจในพอร์ต โรงไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด