ส.อ.ท.หวั่นนโยบาย ‘ซีโร โควิด’ ของจีน ซ้ำเติมปัญหา ‘โกบอลซัพพลายเชน’
หลายเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จนถึงซีโรโควิดของจีน เร่งผู้ประกอบการรับมือความเสี่ยง ภาวะเงินเฟ้อ ซัพพลายขาดตลาด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่สูงขึ้นอีกครั้งในจีนส่งผลให้จีนออกมาตรการล็อกดาวน์ตามนโยบาย Zero Covid ที่เข้มงวด โดยสั่งปิดเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ฮ่องกง เสินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และอาจขยายไปถึงปักกิ่งที่เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้จีนปรับประมาณการณ์จีดีพีในปีนี้ลงมาที่ 5.5% จากปีก่อนหน้าที่โต 8.1%
ขณะที่การปิดเมืองเสินเจิ้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ทำให้โรงงานที่ผลิตสินค้าหยุดชะงัก โดยจะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันช่วงหนึ่งในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาเนื่องจากปริมาณการใช้ลดลงนั้น เช่นเดียวกับเมืองเซี่ยงไฮ้ที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งด้านการผลิตและการเป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ของจีน
แม้จะเป็นการล็อกดาวน์แบบทีละครึ่งเมืองก็ส่งผลต่อภาคการผลิตทำให้โรงงานต้องหยุดชั่วคราว ซ้ำเติมปัญหาซัพพลายเชนทำให้ของขาดตลาดมากขึ้นยิ่งดันภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบไปยังประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีน อาทิ สหรัฐอเมริกาและยุโรป
หลายเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างความขาดแคลนภาคพลังงาน รวมทั้งการปิดเมืองของจีน แม้จะไม่มีผลกระทบกับไทยโดยตรงแต่ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อม ทำให้สินค้านำเข้าจากจีนขาดแคลน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไฮเทค ประเภทชิ้นส่วนประกอบ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการไทย
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งหาแหล่งซัพพลายจากที่อื่นเพื่อมาทดแทนในระยะสั้น เนื่องจากการระบาดของโอมิครอนในจีนอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งอาจจะปิดเมืองมากกว่านี้หรือยืดเยื้อจนถึงสิ้นปี โดยจะต้องประเมินความเสี่ยงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้วางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวด้วยโครงการซัพพลายเชนซีเคียวริตี้ หรือความมั่นคงทางซัพพลายเชน ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งมีการศึกษาเรื่องนี้มาตลอดสองปี เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้ากว่า 30% ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน โดยมีอุตสาหกรรมที่ดำเนินการแล้ว คือ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งไทยส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แต่ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากจีน เนื่องจากจีนผลิตจำนวนมากและมีราคาถูกกว่า
แต่จากนี้ไปสถานการณ์ความผันผวนของโลกทำให้ไทยต้องหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส.อ.ท.จึงกำลังร่างมาตรการและโครงการที่จะเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ เช่น บีโอไอ กนอ.และ สกพอ. เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างความมั่นคงทางซัพพลายเชน นำร่องโดยหลายอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย เช่น เครื่องปรับอากาศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือเงินชดเชย เพื่อให้ไทยสามารถผลิตเอง ทดแทนการนำเข้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมทั้งเป็นการดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น
“ในอนาคตจะมองหาทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางซัพพลายเชนให้กับเรา และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบรนด์ของไทยมากขึ้น ดีกว่าอยู่ในสถานะโออีเอ็มหรือผู้ประกอบชิ้นส่วน”
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 2 แห่ง ในเมืองเซี่ยงไฮ้ เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อความขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะปัญหาความขาดแคลนนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าจะทวีความรุนแรงหรือไม่นั้น ต้องรอประเมินอีก 2 เดือนข้างหน้าว่าจะต้องมีการปรับลดยอดการผลิตรถยนต์ในไทยหรือไม่
“ก่อนหน้านี้มีปัญหาขาดแคลนชิพและชิ้นส่วนอยู่แล้ว ซึ่งหากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อต่อไป เกรงว่าอาจส่งผลทำให้ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกหายไปมากถึง 2.8 ล้านคัน นอกจากนี้ มีบางค่ายรถยนต์ที่ตัดสินใจปิดรับจองรถอีวีเพราะการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตชิพรายใหญ่”
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.รายงานจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือน มี.ค.2565 พบว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน มี.ค.2565 อยู่ที่ 93,840 คัน ลดลง 10.21% จากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดส่งออกไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 243,124 คัน ลดลง 5.81%
ขณะที่การผลิตรถยนต์เดือน มี.ค.2565 มีทั้งสิ้น 172,671 คัน เพิ่มขึ้น 6.25% รวมไตรมาส 1 ปีนี้ มีจำนวน 480,078 คัน เพิ่มขึ้น 3.06%
ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ในรถยนต์นั่งบางรุ่น ซึ่งส่งผลให้การผลิตและส่งออกลดลงในตลาดรถยนต์นั่ง เช่น เอเชีย ออสเตรเลีย และยุโรป