โจทย์ใหญ่ภาคอสังหาฯฝากการบ้านผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

โจทย์ใหญ่ภาคอสังหาฯฝากการบ้านผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 “กรุงเทพธุรกิจ” เปิดมุมมอง “อธิป พีชานนท์” รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและสมาคมอาคารชุดไทย ฝากโจทย์ใหญ่ถึงผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่!

อธิป พีชานนท์  กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. เปรียบเสมือน “พ่อบ้าน” ที่เข้ามาบริหารจัดการกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่มีระเบียบ น่าอยู่ ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี ไร้มลภาวะ สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องแรก คือ การจัดการขยะมูลฝอยให้เป็นระเบียบ เพราะกรุงเทพฯจัดการขยะยังไม่ดีพอ! ทำให้เกิดเป็นมลภาวะประชาชนโดยเฉพาะชาวบ้านในซอยอ่อนนุช

เรื่องที่สอง ระบบขนส่งมวลชน ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเจรจาดึงระบบขนส่งมวลชนมาขึ้นอยู่กับ กทม. เพื่อให้สามารถบริการจัดการได้มีประสิทธิภาพ

“จากปัจจุบันทำแยกส่วนกัน เป็นองค์กรอิสระ เมื่อจับมัดรวมกันจะทำให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้น เพราะผู้ว่าฯ ต้องดูแลความเป็นระเบียบของเมือง ดูแลเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัยโรคระบาด ระบบสาธณูปโภคให้ครบครันสวยงามน่าอยู่อาศัย”

เรื่องที่สาม พัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชน หรือ  TOD (Transit Oriented Development) ในกรุงเทพฯ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ตรงไหนที่มีโครงการพื้นฐานรองรับ ประเภทรถไฟฟ้า ในต่างประเทศจะถือว่าบริเวณนั้นต้องมีการพัฒนาให้ได้ประโยชน์สูงสุดและจัดให้เป็นระเบียบ

“รัฐบาลลงทุนสร้างรถไฟฟ้าหลายหมื่นล้านเฉียดแสนล้านบาท เราไม่ต้องการสร้างรถไฟฟ้ามาให้แค่บางคนนั่ง แต่ต่างประเทศเขาต้องการเปลี่ยนให้คนจากใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้รถไฟฟ้าให้มากที่สุด เท่ากับเป็นการลดการบริโภคน้ำมัน ลดมลภาวะบนท้องถนน ลด PM2.5 การจราจรที่ติดขัด เมืองต้องสร้างความหนาแน่นบริเวณรถไฟฟ้า หรือรอบๆ รถไฟฟ้า จะเห็นโมเดลอย่างเวลาไปฮ่องกง สิงคโปร์ โตเกียว จะเห็นคนส่วนใหญ่ใช้รถไฟฟ้าที่สุด"

ยกตัวอย่างในต่างประเทศยังออกกฏห้ามสร้างที่จอดรถเกินกว่ากี่คัน เพื่อบีบให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยใช้ระเบียบเดียวกันทั้งประเทศ บังคับให้ต้องสร้างที่จอดรถ ไม่น้อยกว่ากี่คัน ประเทศไทยหากสร้างคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ต้องใช้พื้นที่ 120 ตร.ม. ต่อหนึ่งคัน ห้ามน้อยกว่า!  กลายเป็นส่งเสริมให้คนใช้รถทำให้ที่จอดรถในคอนโดมิเนียมไม่เพียงพอ 

จะเห็นว่า คนออกกฏ กับ คนบังคับใช้กฏ คนละหน่วยงานไม่บูรณาการกัน!  อย่าง EIA ไปอีกทาง พรบ.ควบคุมอาคาร ข้อบัญญัติกทม. ต้องดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
 

เรื่องที่สี่ การวางผังเมือง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ ต้องระบุก่อนว่า ต้องการให้กรุงเทพฯ มีบทบาทอะไร?  เช่น ถ้าจะให้กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเมืองเศรษฐกิจก็ต้องแยกบทบาทรอง เช่น ที่ทำการราชการต่างๆ ให้เมืองอื่นทำหน้าที่แทน

 เหมือนในหลายประเทศที่มีการแยก “เมืองเศรษฐกิจ” และ “เมืองราชการ” ออกจากกันอย่างชัดเจน อาทิ มะนิลา เป็นเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ เกซอนซิตี้ เป็นเมืองราชการ เมืองเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย คือ กัวลาลัมเปอร์ ขณะที่ปูตราจายาเป็นเมืองราชการ เมียนมา มีเมืองหลวงคือ กรุงเนปยีดอ และย่างกุ้งเป็นเมืองเศรษฐกิจ ออสเตรเลียเมืองหลวง คือ แคนเบอร์รา เมืองเศรษฐกิจ คือ ซิดนีย์ สหรัฐ มี กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองหลวง และ นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน

“ขณะที่ประเทศไทยระดมความเจริญมาอยู่ในกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว! ทุกคนต่างเข้ามาแสวงหาโอกาสในกรุงเทพฯทำให้กรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรแฝงเยอะมากทั้งที่จริงกรุงเทพฯ มีประชากรเพียง 6 ล้านคน แต่จำนวนประชากรที่เข้ามาอยู่กว่า 12 ล้านคนมากกว่าเท่าตัว ครึ่งหนึ่งไม่ได้ลงทะเบียน โดยงบประมาณของกรุงเทพฯ ที่ได้รับจะคำนวนมาจากคน 6 ล้านคนเพื่อนำมาพัฒนาการให้บริการกับคน 12 ล้านคน ทำให้คุณภาพบริการไม่ดีพอ เพราะตัวเลขไม่ตรงกับความเป็นจริง”

ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเป็น “ต้นทาง” ในการกำหนดนโยบายผังเมืองจังหวัด ด้วยตำแหน่งที่นั่งเป็นประธานบอร์ดผังเมืองจังหวัด ต้องเป็นคนเสนอขึ้นมาตามลำดับจนถึง บอร์ดคณะกรรมการผังเมืองชาติ ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า กรุงเทพฯ ต้องการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมืองราชการ และให้จังหวัดใกล้เคียงดำเนินการให้บริการ เช่น ให้นนทบุรีเป็นศูนย์กลางเมืองราชการเพื่อแยกหน้าที่ชัดเจน

อธิป ย้ำว่า หากสามารถแก้ปัญหาผังเมืองให้ถูกต้องจะทำให้ปัญหาอื่นลดลงอย่างชัดเจนโดยอัตโนมัติ ทั้งปัญหาจราจร ความหนาแน่น ชุมชนแออัด 

ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ดูแล กรุงเทพฯ เสมือนดูแล 7-8 จังหวัด จากจำนวนประชากรกว่า 12 ล้านคน ขณะที่จังหวัดรองจากกรุงเทพฯ มีประชากรไม่ถึง 2 ล้านคน หากสามารถกระจายบทบาทหน้าที่ของเมืองให้ชัดเจนได้ โอกาสที่คนต่างจังหวัดจะเข้าถึงแหล่งงาน แหล่งรายได้ในจังหวัดของตนเองไม่ใช่เรื่องยาก และไม่จำเป็นต้องอพยพจากท้องถิ่นเข้ามาในกรุงเทพฯ จะลดปัญหาจราจร มลภาวะ ความเหลื่อมล้ำ ต่างๆ

หากทำได้ อนาคตประเทศไทยจะเหมือนกับญี่ปุ่น และจีน ที่มีเมืองหลายเมืองที่มีศักยภาพในการดูแลและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งเท่านั้น