ครม.เคาะ “แผน 13” ฉบับล้มแล้วลุกไว ตั้งเป้ารายได้ต่อหัว 3 แสนบาท
ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 ซึ่งมี 13 หมุดหมายการพัฒนา เช่น ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก และหลังจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 (2566-2570) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 และ ครม.มอบหมายให้ สศช.นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เสนอต่อ “รัฐสภา” เพื่อทราบก่อนมีการประกาศใช้
สำหรับร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ถือเป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไปคือปี 2566-2570
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้มีการออกแบบแผนนี้มาจากฐานคิดรวม 4 ประการ
1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.ความสามารถในการที่จะล้มแล้วลุกให้ไว เดินไปข้างหน้าให้ได้ 3.เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนวียน เศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของแผนฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดหลัก 5 ประการ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4.การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และ 5.การเสริมสร้างความสามารถของไทยในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้โรคอุบัติใหม่
นอกจากนี้ รายละเอียดของ 13 หมุดหมาย ได้ตั้งเป้าให้มีการพัฒนาใน 4 มิติ
1.การบริการ โอกาสและความสามารถ 2. ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 3.ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4.การผลักดันและพลิกโฉมประเทศ
รวมทั้งมีการสั่งการให้รัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมุดหมายของแผนฉบับที่13 ไปพิจารณา แบ่งเป็นแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ พลิกโฉมเป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำไม่ได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกันโดยลดความขัดแย่งระหว่างกันให้มากที่สุด
“นี่คือแนวทางในการบริหารประเทศต้องเป็นแบบนี้ เพราะทุกคนเกี่ยวพันกันไปหมด เราต้องหาปัญหาให้เจอและหาวิธีการ วางแผนงาน ค่าใช้จ่าย งบประมาณต่างๆให้พอเพียงไปด้วย เราก็ตั้งเป้าว่าจะทำยังไงจากแผนฉบับนี้ ทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อคน ต้องพยายามอย่างยิ่งยวด แต่ขีดความสามารถของคนทั้ง 8ด้าน อยู่ในระดับสูง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับที่สูง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะนำมาใช้ในปี 2566-2570 มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ
สำหรับสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีหลายส่วนประกอบกัน เช่น หลักการและแนวคิด 4 ประการคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้วลุกไว” เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) โดยมีวัตถุประสงค์ คือ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”
ขณะที่เป้าหมายหลักของการพัฒนามี 5 ประการ ได้แก่
1.การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรมการเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่
โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญได้แก่ 1.รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์ หรือประมาณ 300,000 บาท โดยปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์ หรือประมาณ 227,000 บาท
2.ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 โดยปี 2563 อยู่ที่ 0.6501
3.ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และต่ำสุด 40% ในประเทศมีค่าต่ำกว่า 5 เท่า โดยปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า
4.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี 2561การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลง16%
5.ดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆมีค่าไม่ต่ำกว่า 100