“พีทีที ดิจิตอล-เอสเอสแอนด์ซี” ตั้งศูนย์ “ไอแพค” เสริมแกร่ง “เอสเอ็มอี” ไทย

“พีทีที ดิจิตอล-เอสเอสแอนด์ซี” ตั้งศูนย์ “ไอแพค” เสริมแกร่ง “เอสเอ็มอี” ไทย

พีทีที ดิจิตอล ผนึก เอสเอสแอนด์ซี บลู ปริซึม เสริมทัพความแข็งแกร่งจัดตั้งศูนย์ “ไอแพค” บริการเทคโนโลยี IA และ RPA ระดับ Enterprise ของไทย พร้อมทั้งเสริมศักยภาพและความคล่องตัวในการทำงานของลูกค้าอย่างครบวงจร 

นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานกรรมการ  บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด หรือ พีทีที ดิจิตอล กล่าวว่า พีทีที ดิจิตอล กลุ่มปตท.ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศระดับ Enterprise ของประเทศไทย มองเห็นว่าการนำเทคโนโลยี Intelligent Process Automation มาใช้งานจะช่วยเสริมศักยภาพงานในองค์กรสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างดี  

ทั้งนี้ การลงทุนนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในระดับ Enterprise ยังมีต้นทุนสูง มีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากรที่เข้ามาบริหารจัดการระบบ จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ พีทีที ดิจิตอล จึงร่วมมือกับ บริษัท เอสเอสแอนด์ซี บลู ปริซึม บริษัทซอฟต์แวร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนี้จัดตั้งศูนย์ Intelligent Process Automation Center (IPAC) เพื่อขยายตลาด IA และ RPA ในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการผลิต กลุ่มธุรกิจการเงิน การธนาคาร การประกันภัย และธุรกิจสุขภาพ

นายกาเรท เลน รองประธานอาวุโส ด้านพันธมิตรและช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัท เอสเอสแอนด์ซี บลู ปริซึม กล่าวว่า การร่วมมือนี้จะทำให้องค์กรไทยนำ RPA หรือ ระบบซอฟต์แวร์หุ่นยนต์และไอเอ ไปใช้ผ่านการเสนอแพลตฟอร์มในรูปแบบบริการของบริษัทฯ การบริการที่ยืดหยุ่นช่วยให้ลูกค้าในด้านค่าใช้จ่ายการลงทุนไปเป็นการบริการแบบสมาชิกภายใต้รูปแบบการจ่ายเมื่อใช้งาน และได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มระบบอัตโนมัติอัจฉริยะของบริษัทฯ

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมคนทำงานเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วสู่การทำงานรูปแบบใหม่ ส่งผลให้หลายๆ องค์กรต้องการนำระบบการทำงานแบบอัตโนมัติมาใช้ในธุรกิจ เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำให้ซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติ Intelligent Automation (IA) และระบบจัดการงานแบบอัตโนมัติ (RPA) ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยผลสำรวจจาก Statista ระบุว่า ตลาด RPA จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากมูลค่าตลาด 2.07 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 เป็น 13.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2573 ขณะที่ในประเทศไทย ปัจจุบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีมูลค่าประมาณ 20-23 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการสำรวจของ Frost & Sullivan คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายด้าน AI และ ML ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านล้านบาทภายในปี 2564 โดยรายได้จาก AI ในประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 69.39 พันล้านล้านบาท ภายในปี 2568

สำหรับความมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์บริการ IA จะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี, แพลตฟอร์ม และบุคลากรที่พร้อมต่อยอดการนำไปใช้สนับสนุนงานให้ครบทุกฟังก์ชั่นงาน อาทิ หน่วยงานการเงิน หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง และหน่วยงานทรัพยากรบุคคล ฯลฯ รวมถึงจะช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการเทคโนโลยี IA ช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME, บริษัทจัดตั้งใหม่, Startup, Innovator และ Digital Citizen เข้าถึง IA และ RPA Ecosystem ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่ามาตรฐานระดับสากล ยกระดับการบวนการทำงานองค์กรธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เสริมความคล่องตัวในการทำงานอย่างครบวงจร