3 ปี คนไทยชอปปิงออนไลน์โต 190% นโยบายความเป็นส่วนตัว โจทย์ยากทำตลาด
วิกฤติโควิด-19 ระบาดสู่ปีที่ 3 พฤติกรรมผู้บริโภค การทำตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งการ “ชอปปิงออนไลน์” ไม่ได้เป็นเทรนด์อีกต่อไป แต่คือวิถีปกติใหม่ของคนไทย
นีลเส็น จัดสัมมนาออนไลน์ “Digital Consumer: Insights, Trends and Challenges” มีเทรนด์น่าสนใจหลายประการ
รัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ประเดิมเล่า ภาพรวม “ชอปปิงออนไลนื” ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดเติบโตสูงถึง 190% คนกรุงมีอัตราช้อปออนไลน์สัดส่วน 49% คนเขตเมือง หัวเมืองต่างจังหวัด 39% และชนบท 31%
การช้อปออนไลน์แต่ละครั้งยอดบิลเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 บาท ความถี่เฉลี่ย 2-3 เดือนต่อครั้ง โดยคนไทยยังชินกับการจ่ายเงินสดหรือเก็บเงินปลายทางมากสุด แต่การจ่ายเงินซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต เดบิต และโมบาย แบงก์กิ้ง เติบโตอย่างมีนัยยะ
สำหรับไอเทมเด็ดที่ขาช้อปออนไลน์ซื้อมากสุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่นเติบโตถึง 206% ตามด้วยของสด เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า เจาะลึกช่วงโควิด-19 ระบาด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าสุขภาพร้อนแรงโตพุ่ง 798% แต่ฮอตสุดยกให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยเฉพาะเสิร์ฟความอร่อยถึงบ้าน เช่น จากไลน์แมน แกร๊บฟู้ด ฟู้ดแพนด้า ฯโตถึง 2,683%
ส่วนแพลตฟอร์มที่ได้ทั้งลูกค้าและเงินมากสุด ยังเป็นมาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ทั้ง Shopee Lazada เพราะมีกลยุทธ์ดึงดูดผู้ซื้อจากการแจกโค้ดส่วนลด คูปอง รวมถึงทำตลาดอย่างหนักด้วยการโฆษณาผ่านทุกสื่อกระตุ้นการซื้อ เช่น Lazada เทงบโตขึ้น 36% สร้างการรับผ่านทีวี72% สื่อดิจิทัล 28% ส่วน Shopee เทงบเพิ่ม 158% ผ่านทีวี 38% สื่อดิจิทัล 42% และสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 20% ส่วน Alibaba.com เทงบลงสื่อดิจิทัล 100% แต่เพิ่มงบถึง 50,000%
ส่วนแพลตฟอร์มช้อปอื่นๆ ที่ผู้บริโภคซื้อสินค้า ได้แก่ โซเชียลคอมเมิร์ซ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ช็อป อินสตาแกรมช็อป ถวมถึงหน้าร้านออนไลน์ของห้างค้าปลีกต่างๆ เช่น วัตสัน เซ็นทรัล ออนไลน์ และโลตัส
“ผู้บริโภคช้อปออนไลน์ผ่านอี-มาร์เก็ตเพลสมากสุด ขณะที่ผู้เล่นในตลาดโหมโฆษณาอย่างหนักใน 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไตรมาสแรกของปี 2565 ก้าวมาติดท็อป 3 ของกลุ่มที่ใช้งบโฆษาสูงสุดในไทย”
รัญชิตา กล่าวอีกว่า หากเทียบพฤติกรรมชอปปิงออนไลน์ของคนไทยกับเพื่อนบ้าน ค่าเฉลี่ยสูงกว่าทุกประเทศด้วย
ปัจจุบันไม่แค่คนซื้อสินค้าออนไลน์เติบโต “พ่อค้าแม่ขายออนไลน์” เพิ่มขึ้น 44% มีหน้าใหม่อย่างธุรกิจบันเทิงเปิดตลาด ขายบัตร ชมคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านกรุ๊ปต่างๆ เป็นต้น
เมื่อออนไลน์เบ่งบาน จึงมีผลต่อ “โฆษณา” ด้วย ย้อนไปช่วงโควิดระบาด งบโฆษณา “ติดลบ 13%” แต่ปี 2565 เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสื่อโฆษณานอกบ้าน สื่อในโรงภาพยนตร์ และสื่อในห้างเติบโต 2 หลักทั้งสิ้น
“เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผ้บริโภคฟื้น ทำให้คนมีการใช้จ่ายมากขึ้น” แล้วมุมสื่อหากโฆษณา ป้อนข้อมูล ผู้บริโภค “เชื่อสื่อไหน” นีลเส็นสำรวจความเห็นผู้บริโภคได้คำตอบว่า ข้อมูลเว็บไซต์ของแบรนด์เชื่อสูงสุด ตามด้วยโฆษณาทางทีวี สปอนเซอร์ชิป การบอกต่อ และโพสต์ ความเห็นจากคนบนโลกออนไลน์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าตามลำดับ ส่วนที่ไม่เชื่อคือ “ข้อความ โฆษณาผ่านมือถือ” เพราะกลัวมิจฉาชีพหลอกลวง
เมื่อใดๆในโลกล้วนต้องทำการตลาด แต่ 1-2 ปีข้างหน้า การทำตลาดออนไลน์กำลังถูกท้าทาย และดิสรัปจาก “นโยบายความเป็นส่วนตัว” นั่นทำให้ผู้บริโภคต้องการความมั่นใจจากแบรนด์ในการชอปปิงออนไลน์มากขึ้น เช่น เกินกว่า 90% ยินดีซื้อสินค้าหากนโยบายความเป็นส่วนตัวมีความปลอดภัยเพียงพอ และต้องการให้องค์กรภายในรับรองความปลอดภัย เป็นต้น
แม้ผู้บริโภห่วงความเป็นส่วนตัว แต่นักชอปออนไลน์ทั้งโลกมีทัศนคติบวกเกี่ยวกับกฎหมาย นโยบายความเป็นส่วนตัว ส่วนคนไทยมีทัศนคติบวกสูงถึง 92% ต่อประเด็นดังกล่าว สูงสุดในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม มีผ้บริโภคบางส่วนเท่านั้นที่ยอมให้แอปพลิเคชันต่างๆเก็บข้อมูลส่วนตัวไปใช้ ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์ข้อมูล” ที่นักการตลาดนำไปต่อยอดแคมเปญ วางกลยุทธ์เจาะกลุ่มเป้าหมายให้แม่นยำมากขึ้น
ปัจจุบันข้อมูลที่องค์กรธุรกิจ แบรนด์เป็นเจ้าของ(First-party data)สำคัญมาก จากอดีตข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากช่องทางอื่นๆจากแหล่งภายนอก(Third-party Data)นิยมมาก จากนี้ไปจะถูกจำกัดจากเจ้าของแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่น มากขึ้น เช่น ที่ผ่านมา Apple เปิดตัว ITP FireFox บล็อกคุกกี้(Cookie)ของ Third-Party ฯ ส่วนปีหน้า Google Chrome เว็บเบราเซอร์ใหญ่สุดในโลก จะปิดช่อง Cookie ของ Third-party ไม่ให้เก็บข้อมูลผู้บริโภคได้เช่นกัน