“แคมปิ้ง-เดินป่า” ไลฟ์สไตล์เที่ยวสุดฮิป มีงบ 4,000 บาทก็ตั้งแคมป์ได้แล้ว!
กระแสการท่องเที่ยวแบบ "แคมปิ้ง" และ "เอาท์ดอร์" ในไทยมีมา 3-4 ปีแล้ว แต่แรงจัดชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่โควิดระบาด โดยเฉพาะสถานการณ์คลี่คลายช่วงหน้าหนาวตรงกับไฮซีซั่น ตั้งแต่ ต.ค.-ม.ค. ทำให้คนไทยกล้าออกไปตั้งแคมป์ เดินป่า สัมผัสธรรมชาติ
ธัชรวี หาริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอาท์ดอร์ เฮเว่น จำกัด เล่าว่า จากกระแสแคมปิ้ง ทำให้มีลานกางเต็นท์เอกชนผุดขึ้นจำนวนมากหลักร้อยแห่งในห้วงเวลาแค่ 2 ปีจากที่ไม่มีเลย! โดยเฉพาะจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ เช่น สระบุรี นครราชสีมา นครนายก ราชบุรี กาญจนบุรี และชลบุรี เป็นอีกปัจจัยหนุนทำให้คนไทยขับรถออกไปแคมปิ้งกับครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้น
ถือเป็น “ทางเลือกใหม่” นอกเหนือจากพื้นที่กางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติต่างๆ เพราะสามารถขับรถไปจอดตรงลานของเอกชนแล้วกางเต็นท์นอนข้างๆ รถได้เลย มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 100 บาท/คน/คืน
ลานกางเต็นท์เอกชนโตพุ่งกว่า 500 แห่ง เทรนด์ “แคมปิ้งแวน” มาแรง
ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (NEO : นีโอ) ผู้จัดงาน Thailand Golf & Dive Expo plus Traveler & Outdoor Expo 2022 (ไทยแลนด์กอล์ฟ แอนด์ ไดฟ์ เอ็กซ์โป พลัส ทราเวลเลอร์ แอนด์ เอาท์ดอร์ เอ็กซ์โป) ตั้งแต่วันที่ 5-8 พ.ค.นี้ ณ ไบเทค กล่าวเสริมว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าลานกางเต็นท์เอกชนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง และอีกหนึ่งกิจกรรมที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือกลุ่ม “แคมปิ้งแวน” หรือเดินทางด้วยรถบ้านที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเช่นกัน
“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งเอาท์ดอร์มีการขยายตัวสูงสุดอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตเกินกว่า 100% เป็นผลมาจากการขยายตัวของกลุ่มครอบครัวและกลุ่มเพื่อนที่นิยมการเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ ทำให้ธุรกิจลานกางเต็นท์เอกชนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพื่อรองรับความต้องการ”
2 ปีคนไทยอดเที่ยวนอก สัมผัสประสบการณ์ใหม่ “แคมปิ้ง”
ธัชรวี เล่าเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยเลือกไปพักผ่อนด้วยการตั้งแคมป์มากขึ้น เป็นเพราะสามารถเว้นระยะห่างทางสังคม และมองว่าปลอดภัยจากโควิด-19 เมื่อเทียบกับที่พักอื่นๆ ประกอบกับช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวไทยไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ จึงมองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ แล้วเกิดติดใจแคมปิ้ง เพราะเมื่อได้ลองเที่ยวแล้ว พบว่าไม่ได้ลำบากอย่างที่คิด แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ไม่มากชิ้นก็ตาม
และเมื่อตั้งแคมป์แล้วนักท่องเที่ยวก็นิยมถ่ายรูปสวยๆ โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Instagram คนแชร์ต่อกันจำนวนมาก จนกลายเป็นกระแสนิยมตั้งแคมปิ้งในไทย เพราะหาข้อมูลบนออนไลน์ได้ง่าย ทั้งยังสามารถเดินทางไปได้ง่ายอีกด้วย
“แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายดีขึ้น แต่ประเมินว่าตลาดแคมปิ้งน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง อีกตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วคือเดินป่า เริ่มบูมมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปีต้นๆ หัดเดินป่ากันมากขึ้น”
มือใหม่ฟังทางนี้! มีงบ 4,000 บาท ก็ตั้งแคมป์ได้แล้ว
สำหรับค่าใช้จ่ายของมือใหม่หัดตั้งแคมป์ แค่มี “เต็นท์” กับ “เครื่องนอน” ไอเทมหลัก 2 อย่างยืนพื้นออกไปแคมปิ้งได้แล้ว โดยเต็นท์สนนราคาขายถูกสุดประมาณ 2,000 กว่าบาท ขณะที่เครื่องนอนสำหรับ 2 คน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 กว่าบาท ก็สามารถไปตั้งแคมป์ได้แล้ว และถ้าเกิดติดใจ ก็ค่อยสอยเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่ม เช่น เก้าอี้ เครื่องครัว และอื่นๆ ตามมา
ตลาดแคมปิ้ง “เกาหลี-ไต้หวัน” นำเทรนด์แซงหน้าไทย
“ด้านกระแสแคมปิ้งในต่างประเทศ ถ้าโฟกัสเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย พบว่า “เกาหลีใต้” กับ “ไต้หวัน” เป็นตลาดที่ผู้คนนิยมชมชอบแคมปิ้งมานานหลายปีแล้ว เป็นกระแสชัดเจนโดยเฉพาะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นำหน้ากระแสในไทยมากทีเดียว” ธัชรวี กล่าว
ซีรีส์เอเชีย สะท้อนไลฟ์สไตล์คนรัก Camping - Glamping
หากสังเกตตัวละครและเนื้อเรื่องในซีรีส์เอเชีย โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน จะพบว่าตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว นิยมไปตั้งแคมป์และเดินป่ากันในช่วงสุดสัปดาห์หรือยามว่าง สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ว่าใช้ชีวิตกันมาอย่างเคร่งเครียด พอถึงเวลาพัก ก็อยากจะถอดปลั๊กตัวเอง ให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
เช่น ซีรีส์เกาหลีเรื่อง “เพลย์ลิสต์ชุดกาวน์” (Hospital Playlist) ซึ่งฉายรวม 2 ซีซั่น ตัวละคร “แชซงฮวา” (รับบทโดย ซอนมีโด) ศัลยแพทย์ด้านประสาท ทุ่มเททั้งกายใจให้กับการทำงานอย่างมาก ทั้งงานตัวเองยันงานคนอื่น ทันทีที่ออกเวร มีเวลาว่าง ก็จะถือโอกาสออกไปตั้งแคมป์บนภูเขา เป็นนักท่องเที่ยวสายอุปกรณ์ ข้าวของสำหรับแคมปิ้งครบครัน แต่พอได้ตั้งแคมป์นั่งทอดอารมณ์มองวิว ไม่กี่นาทีกลับถูกเรียกตัวกลับโรงพยาบาลเพราะมีเคสด่วนให้ต้องรักษาเสียอย่างนั้น
ส่วนซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “เหตุผลที่ต้องแต่งแต้มความรัก” (Kikazaru Koi niwa Riyuu ga atte) ซีรีส์แนวโรแมนติก มีฉากที่ตัวละครหลักทั้ง 4 คนออกไปเที่ยวแถบภูเขาไฟฟูจิ พักในที่พักแบบ “แกลมปิ้ง” (Glamping) ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง Glamorous ที่แปลว่าหรูหรา และคำว่า Camping ที่แปลว่าการตั้งแคมป์ บรรยากาศการนั่งกินลมชมวิว เห็นทิวทัศน์ของฟูจิซังเด่นตระหง่านตรงเบื้องหน้าคือดีมาก พอตกกลางคืนก็ทำอาหารกินดื่มเคล้าบทสนทนาอย่างออกรสชาติ เห็นแล้วอยากจะวาร์ปไปตั้งแคมป์ที่นั่นด้วย