วิกฤติพลังงาน ต้องบริหารแบบวิกฤติ

วิกฤติพลังงาน ต้องบริหารแบบวิกฤติ

ที่ผ่านมา มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการพลังงานในภาวะวิกฤติมากมาย ทั้งการปรับสูตรน้ำมันดีเซล การปรับค่าการกลั่นของโรงกลั่น การพิจารณาค่าการตลาด แต่ทั้งหมดจึงอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันลดต่ำลงกว่าวันละ 10,000 คน มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2565 ในขณะที่จำนวนผู้หายป่วยต่อวันมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ดีสอดคล้องกับการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศไทยที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 โดยคาดหวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังจากที่ปี 2563 ถึงปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติ

ถึงแม้สถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศและต่างประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่พ้นปากเหว โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งประเทศรัสเซียทำการบุกเข้าไปภาคตะวันออกของประเทศยูเครนมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2565 และทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นทันที ทรงตัวในระดับเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา และทำให้หลายประเทศเจอปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง

รวมถึงประเทศไทยที่เจอปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี นำมาสู่รายจ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องจนรัฐบาลต้องประกาศเพิ่มเพดานราคาน้ำมันดีเซล จากลิตรละ 30 บาทเป็นลิตรละ 35 บาท เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบไปแล้ว 60,000 ล้านบาท ในขณะที่ยังไม่สามารถจัดหาเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 20,000 ล้านบาท เป็นการอนุมัติไว้ตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถแบกรับภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันแบบเดิมได้อีกต่อไป

สถานการณ์ดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นระดับวิกฤติที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกำหนดแนวทางแก้ปัญหาแบบวิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมาคาดหวังการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันชัดเจนแล้วว่าวิธีการดังกล่าวนอกจากจะไม่เพียงพอกับการรับมือวิกฤติแล้ว ยังมีโอกาสที่ปัญหาจากวิกฤติพลังงานจะถลำลึกขึ้นไปอีก เพราะเกี่ยวโยงกับต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า ที่การขอความร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอาจจะไม่เพียงพอในระยะถัดไปเมื่อน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง

ที่ผ่านมา มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการพลังงานในภาวะวิกฤติมากมาย ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานรัฐล้วนรับทราบข้อเสนอดังกล่าว แต่การดำเนินการของหน่วยงานย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนโยบาย ที่ต้องกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับภาวะวิกฤติให้ชัดเจน เพราะมีหลายเครื่องหรือหลายแนวทางที่จะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ ทั้งการปรับสูตรน้ำมันดีเซล การปรับค่าการกลั่นของโรงกลั่น การพิจารณาค่าการตลาด แต่ทั้งหมดจึงอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล