สธ.ล็อกเป้า 'รพ.ศูนย์ 35 แห่ง' เพิ่มศักยภาพรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
“สมศักดิ์”ล็อกเป้า “รพ.ศูนย์ 35 แห่ง” เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เทียบชั้นรพ.โรงเรียนแพทย์ มอบสธ.จัดทำแผนความต้องการเครื่องมืออุปกรณ์-งบประมาณ
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สาธารณสุขร่วมใจ ขยับกายห่างไกล NCDs” ว่า มีแนวคิดการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ 35 แห่งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อรองรับการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากตนเห็นตัวเลขงบประมาณการรักษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เกี่ยวกับโรคมะเร็งปีละราว9,000 ล้านบาท เป็นของ รพ.สธ. ประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 7,000 กว่าล้านเป็นของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันถึง 4 เท่า
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนได้หารือกับที่ประชุมผู้บริหารสธ.แล้ว สธ.มีศักยภาพแค่ไหนในการักษาโรคมะเร็งทุกจังหวัดได้หรือไม่ สรุปแล้วเห็นว่า โรงพยาบาลศูนย์ 35 แห่งทั่วประเทศมีความพร้อม ซึ่งแนวโนบายต่อไปคือ การเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากร อีกไม่มากก็จะทำให้สามารถรักษามะเร็งให้กับประชาชนได้ เป็นรพ.ที่อยู่ใกล้กับพี่น้องประชาชน ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในกรุเทพฯ เพื่อลดการใช้บริการในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ด้วย
ถามว่าตรงนี้จะเป็นรองรับนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ และการลดพึ่งพาโรงเรียนแพทย์ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ด้วย ซึ่งหากดูค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่ารักษาผู้ป่วยนอก รพ.สธ.ใช้เงิน 400 บาท แต่ รพ.โรงเรียนแพทย์ มีค่าใช้จ่าย 1,200 บาท สูงกว่าถึง 3 เท่า หากทำได้ก็จะช่วยประหยัดงบฯของ สปสช.ได้ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ให้กับรพ.ศูนย์เพิ่มเติม นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปวางแผนจัดทำรายละเอียดและงบประมาณแล้วนำมาหารือร่วมกันหลังปีใหม่ จากนั้นจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในส่วนของโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ สิทธิบัตรทอง 30 บาทนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ปรับเกณฑ์การจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจากกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่(cancer anywhere )ใหม่ โดยให้ครอบคลุมเฉพาะรายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควรเท่านั้น มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2568
ส่งผลให้รพ.โรงเรียนแพทย์หลายแห่งออกมาประกาศให้ผู้ป่วยในโครงการนี้ที่ส่งต่อเข้ามารักษาจะต้องมีใบส่งตัวรับรองการจ่ายค่ารักษาจากรพ.ตามสิทธิด้วยหลังจากที่สปสช.มีการปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายให้กับรพ. ต่อมาได้มีการหารือร่วมระหว่างผู้บริหารโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์และสปสช. มีมติที่จะชะลอหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายใหม่ของสปสช.ออกไปก่อน 3 เดือน เพื่อให้มีการหารือวางแนวทางพัฒนาโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ให้ดีขึ้น