นายกฯเร่งกลไกขับเคลื่อน เกษตรไทยสู่“สมาร์ทฟาร์ม”
"คูโบต้า ฟาร์ม ”กำลังจะเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ด้าน Smart Farming ที่จากนี้จะไม่ใช่คำพูดสวยหรูเกินเอื้อมอีกต่อไป เมื่อ นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม พร้อมพบปะเกษตรกรต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งที่คูโบต้าฟาร์ม ที่จังหวัดชลบุรี
โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ซึ่งบางพื้นที่ประสบปัญหาการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกล เพราะเกษตรกรขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงรักษา และการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรก็ใช้งบประมาณสูง
ดังนั้น ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในวงกว้างต่อไป เช่น การสร้าง Start up กลุ่มเกษตรอัจฉริยะ โดยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษหรือเงินอุดหนุนแก่ Young Smart Farmer เพื่อนำไปบริหารจัดการหรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลโดยการรวมกลุ่มใช้/การจับคู่ (matching) เป็นต้น
นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรเกษตรกรรุ่นใหม่ ,ทำผลงานวิจัยเครื่องจักรกลในพื้นที่กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้งานโดยตรง รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงด้านการใช้เทคโนโลยีให้กลุ่มเกษตรกรตั้งแต่ภาคการผลิตจนถึงการตลาด
ส่วนสถาบันอาชีวศึกษาหรือวิทยาลัยเกษตรกรรมอาจจัดทำโครงการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลให้กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรเครื่องจักรกล รวมทั้งการติดตั้ง Internet Wifi ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งการขับเคลื่อนและขยายผลนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการเกษตรและการส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความยากจนและพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทยต่อไป
“การทำเกษตรปัจจุบันต้องมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยดำเนินการในด้านการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพด้านการเกษตรให้มากขึ้น “
ทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตามเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยให้มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถแข่งขันในตลาดโลก จึงพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตร
เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทยที่ยังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน การขาดแคลนแรงงาน และการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเศรษฐกิจการเกษตรมหภาคบนพื้นฐานการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
เช่น การบริหารจัดการฟาร์มด้วยระบบควบคุมน้ำอัจฉริยะ สถานีวัดสภาพอากาศ โครงการระบบโซล่าร์เซลล์บนแปลงเกษตร การทำเกษตรที่ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับนโยบาย Net Zero และวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีทำนาเป็นการหยอดแห้งหรือปักดำด้วยรถดำนา
ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้กว่า 60-70 % และการไถกลบตอซังลดการเผาที่สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 20 % รวมถึงการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้าจึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การบูรณาการองค์ความรู้ ได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านการเกษตร การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นด้านการเกษตร การอบรมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร
การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การติดตั้งสถานีวัดอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร การปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงง่ายและสัญญาณที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
การเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจับคู่ผู้ให้บริการสำหรับเกษตรกรรายย่อย และ การตลาด สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดทั้งปริมาณความต้องการและราคาเผื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ การขยายตลาดใหม่เพื่อความยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปสินค้าเกษตร
“ทั้งนี้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล เชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายผลสมาร์ท ฟาร์มมิ่งได้ทั่วไทย ช่วยให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง”
สยามคูโบต้า มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาโซลูชั่นให้ครอบคลุมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำครบทุกความต้องการของเกษตรกร รวมถึงการแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และเชื่อมโยงกับผู้ซื้อหรือตลาด พัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรรมรายได้สูง เกษตรแม่นยำสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model
สำหรับ“คูโบต้าฟาร์ม” เกิดจากการนำองค์ความรู้นวัตกรรมเกษตรครบวงจรซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า หรือ คูโบต้า อะกริ โซลูชัน (เคเอเอส) มาประยุกต์ใช้ใน 10 โซน บนพื้นที่ 220 ไร่ ในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ใช้งบลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 200 ล้านบาท
โดยขยายจากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 145 ล้านบาทเนื่องจากได้เพิ่มแปลงเรียนรู้ทางด้านพืชสวน จากจากเดิมที่มีพืชเศรษฐกิจ6 อย่างคือข้าวโพด ข้าว อ้อยยางพารามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน
จากที่เปิดให้บริการฟรี ตั้งแต่ปี 2563 พบว่ามีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมแล้วกว่า3หมื่นคน ทางคูโบต้าจึงมีแนวคิดจะขยาย ศูนย์เรียนรู้ในลักษณะนี้ตามจังหวัดอื่นๆแต่มีขนาดเล็กกว่า เช่น มหาสารคาม นครราชสีมา นครสวรรค์ และราชบุรี