สยามคูโบต้า เคาะเป้าปีนี้ 6.3 หมื่นล้าน ชี้ภัยแล้งครึ่งปีหลังรั้งการผลิต
สยามคูโบต้า วางเป้ารายได้ปีนี้ 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 64 ชี้ปัจจัยเสี่ยงครึ่งหลังน้ำน้อย - รัฐลดพื้นที่การผลิต ขณะดีมานด์จากจีนยังดันกำลังซื้อ
นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% จากปัจจัยบวกมาจากสภาพอากาศปริมาณน้ำฝนสำหรับการเพาะปลูกมีเพียงพอ ส่งให้ผลประกอบการของสยามคูโบต้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวม 6.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 30%
ขณะที่เป้าหมายปี 2565 สยามคูโบต้าตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงผลักดันจากสถานการณ์โควิด-19 และงบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ปีนี้คาดว่ายังไม่ชัดเจนมากนัก ขณะเดียวกันคาดว่าปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ดีแค่ในช่วงต้นปี ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังครึ่งปีหลังคาดว่าจะเป็นความท้าทายภาคเกษตรอย่างมากอาจจะน้อยกว่าคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ยอดขายยังคงเติบโตเท่ากับที่ตั้งเป้าไว้เมื่อเทียบกับปี 2563 จากแนวโน้มภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในความสนใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เกษตรกรยังมีกำลังซื้อเครื่องจักรกลเกษตร อีกทั้งประเทศจีนมีความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อยอดการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น
"เหตุผลที่ตั้งเป้าหมายรายได้ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลลดสเกลการผลิตลง ส่วนปัญหาโควิดที่ผ่านมาเราเห็นเทรนด์การทำเกษตรหลากหลายมากขึ้น ความต้องการซื้อล่วงหน้า ดีหมด การเกษตรยังไปได้ดีหมด ส่วนปีนี้มองว่าครึ่งปีแรกไม่น่ามีปัญหา ต้องรอดูครึ่งปีหลังอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไรเพราะเรื่องน้ำน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ"
ทั้งนี้ สยามคูโบต้าจะสานต่อนโยบายของคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งมั่นทำให้คูโบต้าเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ Global Major Brand (GMB) ภายในปี 2573 โดยวางเป้าหมายเป็น “Essentials Innovator for Supporting life” สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าที่มีทั่วโลก พร้อมกับการเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคม ดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาสินค้าเพื่อสานต่อความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม
"สยามคูโบต้าเชื่อว่า ในปี 2565 จะเป็นเทรนด์แห่งการเกษตรสมัยใหม่ Smart Farm เราจึงร่วมกับ เอสซีจี และคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท "เกษตรอินโน KasetInno" ให้บริการโซลูชั่นการเกษตรครบวงจร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IoT ที่ทันสมัย เพื่อให้การทำเกษตรก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ความเป็นไปได้สำหรับทุกคน"
ด้าน นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยภายในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การส่งออกสินค้าทางการเกษตรกลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดในปี 2565 ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรน่าจะยังเติบโตต่อไปได้ด้วยเทรนด์โลกในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพอย่างต่อเนื่องซึ่งเกษตรกรจะหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจของคูโบต้า
อีกทั้ง สยามคูโบต้ายังคงเดินหน้าโครงการ KUBOTA On Your Side ที่เข้าไปช่วยเหลือและร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในวิกฤติโควิด-19 หรือแม้กระทั่งโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา เพื่อลดมลภาวะ PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการก้าวสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่ไม่ได้คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมด้วยนโยบาย ESG ที่มุ่งเน้นใน 3 มิติ
ได้แก่ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) นำเอาเทคโนโลยีผสานองค์ความรู้ มาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการคูโบต้าฟาร์ม และเกษตรปลอดการเผา
2.ด้านสังคม (Social) ผ่านกิจกรรม CSR ที่ช่วยเหลือสังคม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเกษตรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 27,000 ไร่ และมีเกษตรกรภายใต้โครงการกว่า 1,700 ราย
และ3.ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ บริหารงานอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล
ทั้งนี้เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีอีกทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งในปีนี้สยามคูโบต้าจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการน้ำและปุ๋ยที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ดิจิทัลแพลตฟอร์มส่งเสริมเกษตรแม่นยำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยมลพิษลง
โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero CO2 ในปี 2593 ตามแนวทางคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น
ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ “Renew your Agri-life together ก้าวสู่ชีวิตเกษตรใหม่ไปด้วยกัน" มุ่งหวังในการสื่อสารแบรนด์ในฐานะผู้นำนวัตกรรมการเกษตรที่เข้าถึงหัวใจทุกคน ทั้งเกษตรกร กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนเมืองที่สนใจด้านการเกษตร เพื่อสร้างจุดเปลี่ยน ด้วยการนำนวัตกรรมที่พร้อมพาผู้คนก้าวข้ามสู่โลกแห่งการทำเกษตรในรูปแบบใหม่ ที่จะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรไทยในอนาคต
นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ กล่าวว่า ในปี 2564 สยามคูโบต้ายังคงเป็นผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร และตลาดรถขุดเล็ก เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาด ในปีนี้จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชมูลค่าสูง อาทิ เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวล แทรกเตอร์ B2401 พร้อมเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower)
โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตสูงถึง 60% ส่งผลให้เกษตรกรหันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนโตขึ้นเฉลี่ย 10% และพัฒนารถดำนาเดินตาม 6 แถวใหม่ นอกจากนี้ยังขยายฐานลูกค้าสู่นอกภาคเกษตรอย่างรถกระบะบรรทุกหนัก มุ่งรุกตลาดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ตราช้าง ซุปเปอร์ คอมมอนเรล โดยอาศัยกลยุทธ์การทำการตลาดแบบ Personalized Marketing
รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ระบบ QRoC หรือ QRadar on Cloud ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์ ระบบ Scan QR code เพิ่มความสะดวกสบายในการจ่ายค่าบริการที่หน้างานของลูกค้า
รวมถึงการเพิ่มฟีเจอร์แชทสอบถามข้อมูลอะไหล่ในเวบไซต์ KUBOTA Store ทั้งนี้เพื่อมุ่งยกระดับการบริการให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าและรับบริการที่ดีเยี่ยม สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายศูนย์กระจายอะไหล่สยามคูโบต้าไปยังภูมิภาคต่างๆ อีก 2 แห่งที่จังหวัดนครราชสีมา และฉะเชิงเทรา รองรับการจัดส่งอะไหล่แท้พร้อมถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วและอุ่นใจยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้สยามคูโบต้ายังมีกิจกรรมด้านความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จึงได้วางแผนสานต่อ “โครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เฟส 2” ทั้งการขยายจำนวนเพิ่มชุมชนต้นแบบบริหารจัดการเครื่องจักรแบบรวมกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฟสแรกมีวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 124 กลุ่ม ใน 48 จังหวัด และเสริมศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของสยามคูโบต้าที่จะร่วมขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์