คลังหนุนกู้ 3 หมื่นล้านอุ้มดีเซล กองทุนน้ำมันฯ กัดฟันตรึงลิตรละ 32 บาท
คลังหนุนกู้ "3 หมื่นล." อุ้มดีเซล กองทุนน้ำมันกัดฟันตรึงลิตรละ 32 บาทต่ออีก 1 สัปดาห์ ยันไม่เกี่ยวการเมืองชี้องค์ประกอบกรรมการหนุนทำงานอิสระ มั่นใจสถานะทางการเงินยังพยุงไหว เสนอ กบง.ปรับลดสัดส่วน B5 ลงอีก 2% “กรุงไทย-ออมสิน” สนใจปล่อยกู้ ก้อนแรก 20,000 ล้าน
สถานการณ์ราคาพลังงานยังขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งยังไม่มีทีท่าจะสงบลงและอยู่ในความเสี่ยงที่จะบานปลายหลังสภาพยุโรป (อียู) เตรียมคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เป็นผลให้ราคาน้ำมันล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ปัจจัยต่างๆ จะชี้ไปสู่การขึ้นราคาน้ำมันในประเทศแต่ท่าทีหน่วยงานที่กำกับดูแลราคาพลังงานกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กล่าวภายหลังการประชุม กบน.ว่าที่ประชุมมีมติให้คงราคาดีเซลในสัปดาห์นี้ไว้ที่ลิตรละ 32 บาท เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพให้ประชาชน จากราคาจริงที่ควรจะอยู่ที่ลิตรละ 38 บาท ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ราคาดีเซล ณ วันที่ 6 พ.ค.2565 อยู่ที่ 160.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจุบันกองทุนน้ำมันอุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 11.35 บาท แม้ว่าบัญชีกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 8 พ.ค.2565 ประมาณการฐานะกองทุนติดลบ 66,681 ล้านบาท แต่ยังมีสภาพคล่องที่ 12,932 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถือว่ายังเพียงพอในการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ แม้ว่ารัฐบาลให้ปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบมีการอุดหนุนครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัย ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง หลังยุโรปผ่านพ้นฤดูหนาวแล้ว แต่กองทุนน้ำมันต้องติดตามราคาน้ำมันวันต่อวัน
“ถ้าหากกบน.จะอุดหนุนคนละครึ่งจะยู่ที่กว่า 6 บาท และบวก 32 บาท จะอยู่ที่ลิตรละ 38 บาท ซึ่งกบน.ดูแล้วว่าราคาจะกระทบประชาชนในวงกว้าง จึงยังคงราคาที่ลิตรละ 32 บาทต่อไปอีกสัปดาห์”
อย่างไรก็ตาม ยังมีการติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่จะมีผลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้นและลงเป็นรายสัปดาห์อีกครั้งในวันที่ 16 พ.ค.2565 หากในแต่ละรอบสัปดาห์ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง ก็จะมีการปรับเงินอุดหนุนและปรับเพดานราคาลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อไป
ยอดใช้น้ำมันรายวันลดลง
“เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเม.ย. 2565 กับเดือน พ.ค. 2565 จากยอดใช้น้ำมันดีเซลวันละ 73 ล้านลิตร เหลือราว 65 ล้านลิตร ถือเป็นสัญญาณที่ว่าประชาชนเริ่มประหยัด ในขณะที่รถขนส่งสินค้าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวมากขึ้นเพื่อลดจำนวนการขนส่งแต่คาร์ปาซิตี้เท่าเดิม อีกทั้ง อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ากระทรวงพลังงานดูแลอย่างเต็มที่ ถ้าดูตลาดอาเซียน ประเทศเราจะค่อนข้างราคาต่ำกว่า”
ทั้งนี้ยืนยันว่า การพิจารณามาจากการนำทุกมิติมารวมกัน ซึ่งมีสถานการณ์โลกเป็นตัวแปรสำคัญ เบื้องต้นเทรนด์ราคาน่าจะลง เมื่อยุโรปผ่ายพ้นฤดูหนาว เมื่อพิจารณาด้านฐานะกองทุนที่มีอยู่ สามารถดูแลเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดยมีการติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน เพื่อพิจาณาตัวแปรที่จะมีนัยสำคัญก่อนส่งสัญญาณให้รัฐบาลและประชาชนรับรู้ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้อุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศนั้น ขณะนี้มีธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย สนใจและยื่นข้อเสนอการปล่อยกู้มายังกองทุนน้ำมันแล้ว จากที่แจ้งไป 10 แห่ง โดยธนาคารทั้งสองแห่งได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน สภาพคล่องของเงินเข้าและออก และราคาน้ำมันตลาดโลก รวมทั้งเงื่อนไขการปล่อยกู้ปัจจุบันมีการพิจารณาเข้มข้นขึ้นมาก
ทั้งนี้ ตามพรบ.ของกองทุนน้ำมันในเรื่องของหนี้สาธารณะ ทางรัฐบาลไม่สามารถค้ำประกันได้ แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อยู่ใน 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยมาตรา 6 (2) ถ้ามีวิกฤติรัฐบาลสามารถนำเอางบประมาณมาช่วยได้จึงมั่นใจว่าทางธนาคารจะเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง
โยนคลังเคาะลดภาษีดีเซล
“สำหรับประเด็นการปรับลดภาษีดีเซลต่อหรือไม่นั้น กระทรวงการคลัง จะเป็นผู้พิจารณาอย่างใกล้ชิดและเหมาะสม ถ้าพบว่าการกู้เงินดำเนินการได้ กองทุนมีสภาพคล่อง ก็ใช้การกู้ หรือจะใช้วิธีใส่เงินอุดหนุนหรือนโยบายภาครัฐได้ เป็นความคล่องตัว และยืดหยุ่น ซึ่งมีหลายวิธี คนที่รู้ดีสุดคือกระทรวงการคลัง โดยเป้าหมายการกู้จะต้องชัดเจนก่อนสิ้นเดือนนี้ เพื่อเติมเงินเข้าระบบเดือนมิ.ย. 2565”
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานจัดหาเงินกู้ให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ขณะนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องให้แก่กองทุนฯ โดยได้เจรจากับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง หนึ่งในนั้น คือ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในเดือนพ.ค.นี้
“เราจะรีบเจรจากับแบงก์ให้แล้วเสร็จ ขณะนี้ ก็คุยไว้หลายแห่ง หนึ่งในนั้น คือ ออมสิน กับ กรุงไทย ก็คาดว่า ภายในเดือนนี้ จะได้ข้อสรุป จากนั้น เราก็จะทยอยเบิกจ่ายเงินกู้ เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุน”
ทั้งนี้สถานะของกองทุนฯ อยู่ในภาวะติดลบ เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เพราะรัฐบาลได้อุดหนุนเรื่องของภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้กองทุนฯ สามารถบริหารสภาพคล่องได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กองทุนฯ จะต้องมีวงเงินไว้ สำหรับเสริมสภาพคล่องกรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นไปอีก รวมถึงกรณีที่สิ้นสุดระยะเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลในวันที่ 20 พ.ค.นี้
“หลังจากรัฐบาลได้ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลง ทำให้สถานะกองทุนฯ เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สถานะกองทุนฯ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย ซึ่งขณะนี้ ก็ถือว่า ทรงตัวอยู่ในระดับสูง”
นายธีรัชย์ กล่าวว่า วงเงินที่จะขอกู้นั้น อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2565 แล้ว โดยกองทุนฯ จะกู้เต็มวงเงินดังกล่าว แต่จะทยอยเบิกจ่ายเท่าที่จำเป็น
ปัดการเมืองบีบตรึงราคา
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า มติให้คงราคาน้ำมันนั้นไม่เกี่ยวกับการเมืองเพราะองค์ประกอบคณะกรรมการกบน.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งเหตุผลที่ให้คงราคาไว้แม้ระดับนโยบายจะเปิดช่องให้ปรับขึ้นได้ตามสถานการณ์จริงเพราะเกรงจะกระทบประชาชนเนื่องจากราคาปัจจุบันที่ 32 บาท ถือว่าสูงมากแล้ว ขณะเดียวกันกองทุนฯ เองก็ยังมีสภาพคล่องที่จะช่วยเหลือด้านราคาอยู่
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลลงอยู่ที่ B3 จากปัจจุบันอยู่ที่ B5 มั่นใจจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งทั้งหมดก็ต้องหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ด้วยเช่นกัน
ลุ้นลดB5ทำราคาถูกลงอีก
"ต้นทุนB5 วันนี้ลิตรละราว 36 บาท ถ้าปรับลงเหลือB3 ถือว่าสมดุลสุด โดยจะลดลงลิตรละ50 สตางค์ แต่จะต้องเสียเงินเพิ่มในเรื่องของภาษีสรรพสามิตที่ต้องจ่ายแพงขึ้นมาอีกประมาณ 25 สตางค์ เพราะอัตราภาษีกำหนดว่าส่วนผสมระดับ B4-B7 ต้องจ่ายภาษี 3.2 บาท และต่ำกว่า B4 จะบวกอีก 24 สตางค์ ซึ่งยังไม่รวมกับที่กระทรวงการคลังลดภาษี 3 บาท และจะครบกำหนดวันที่ 20 พ.ค. 2565 นี้ ซึ่งหากส่วนผสมไบโอดีเซลยิ่งต่ำลงก็จะเสียภาษีน้ำมันนำเข้าให้ต่างประเทศมากขึ้น จึงมองว่าสมดุลสุดคือ B3”