ก.ล.ต. ฟัน "รุ่งโรจน์ พร้อมพวกรวม 6 ราย" ฐานใช้ข้อมูลภายใน ซื้อหุ้น RCI
ก.ล.ต. ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด "รุ่งโรจน์ แสงศาสตรา - พวกอีก 5 ราย" กรณีซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายใน และช่วยเหลือการกระทำความผิด โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 11.39 ล้านบาท
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บุคคลจำนวน 6 ราย ได้แก่
(1) นายรุ่งโรจน์ แสงศาสตรา (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการ บริษัท ไดนาสตี้ เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC
(2) นางฉัฐรส อุตตมะโยธิน
(3) นางสาวสุภาณี ทองเปล่งศรี
(4) นายนครินทร์ แสงศาสตรา
(5) นายวิบูลย์ วัชรสุรังค์ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ RCI)
(6) นางวารี แก้วจินดา ได้ซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายใน หรือช่วยเหลือการกระทำความผิด
นายรุ่งโรจน์ และนายวิบูลย์ ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการที่ DCC ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นRCI ทั้งหมดโดยสมัครใจที่ราคาหุ้นละ 4.00 บาท ซึ่งเป็นราคาเสนอซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดที่มีการซื้อขายหุ้น RCI ในขณะนั้น
ในระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม – 27 สิงหาคม 2562 นายรุ่งโรจน์ได้ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น RCI โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางฉัฐรส นางสาวสุภาณี นายนครินทร์ และบุคคลภายนอก 1 ราย ซึ่งเป็นอดีตแม่บ้าน ส่วนนายวิบูลย์ ได้ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น RCI โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางวารี ก่อนที่ DCC เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562
การกระทำของนายรุ่งโรจน์ และนายวิบูลย์ เป็นความผิดฐานซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ส่วนการกระทำของนางฉัฐรส นางสาวสุภาณี นายนครินทร์ และนางวารี เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/2 ประกอบมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) นายรุ่งโรจน์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,128,126 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 20 เดือน
(2) นายวิบูลย์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 966,808 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 14 เดือน
(3) นางฉัฐรส นางสาวสุภาณี และนายนครินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น รายละ 575,138 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา รายละ 13 เดือน
(4) นางวารี ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 575,138 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 9 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่ง และเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์