โรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงลงทุน อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
BOI ประเดิมจัดโรดโชว์เพื่อดึงการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย.2565 นำโดยรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ มุ่งเป้าดึงการลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งความร่วมมือพัฒนา BCG
ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ข้อจำกัดในการเดินทางทำให้ BOI ไม่สามารถจัดคณะไปต่างประเทศนานถึง 2 ปี โดยที่ผ่านมาได้ปรับรูปแบบกิจกรรมดึงดูดการลงทุนมาเป็นแบบ online เป็นหลัก ขณะที่งานเชิงรุกในพื้นที่ จะใช้สำนักงานต่างประเทศของ BOI ทั้ง 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ เป็นทัพหน้าเจาะกลุ่มบริษัทเป้าหมาย โดยเฉพาะรายใหม่ๆ
เมื่อรัฐบาลไทยและประเทศต่างๆ เริ่มทยอยเปิดประเทศมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะจัดคณะไปเยือนประเทศเป้าหมายที่เป็นผู้ลงทุนหลัก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในไทยมากกว่า 7,000 บริษัท
“คลื่นการลงทุนจากญี่ปุ่น” เกิดขึ้นหลังจากมีข้อตกลง Plaza Accord เมื่อปี 2528 ซึ่งมีผลทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นต้องเร่งย้ายฐานออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ ส่วนใหญ่มายังประเทศไทย เพราะมีต้นทุนที่เหมาะสมและมีปัจจัยเอื้ออำนวยมากที่สุด ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และมาตรการส่งเสริมจากรัฐ การลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา
ตัวเลขล่าสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 ถึงไตรมาส 1 ปี 2565) คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น มีจำนวน 3,727 โครงการ มูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่ง และมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และหากดูตัวเลขการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน 5 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ (เน้นลงทุนภาคบริการ) แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อศักยภาพของไทย
การลงทุนจากญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รองลงมาคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และอาหารแปรรูป โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC บริษัทใหญ่ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมายาวนาน ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี เช่น Toyota, Honda, Mitsubishi, Nissan, Isuzu, Suzuki, Mazda, Kubota, Bridgestone, Denso, Minebea, Sony, Toshiba, Panasonic, Fujikura, Murata, Nikon, Nippon Steel, Asahi Glass, Ajinomoto เป็นต้น
บริษัทเหล่านี้ได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และยังช่วยพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้เข้าไปอยู่ใน supply chain นอกจากนี้ มีหลายรายที่ตัดสินใจจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D)” รวมทั้ง “สำนักงานภูมิภาค” ในไทย โดยในช่วงปี 2558 – 2564 มีบริษัทญี่ปุ่นได้รับการส่งเสริมในกิจการ R&D 12 โครงการ และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) 142 โครงการ มากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาต่างชาติทั้งหมด
ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะยกระดับไปสู่ “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve” เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีนโยบาย Asia – Japan Investing for the Future (AJIF) และโครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับ supply chain ของญี่ปุ่นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน โดย JETRO ช่วยสนับสนุนด้านการเงิน ที่ผ่านมามีบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทยได้รับการสนับสนุนแล้วกว่า 20 ราย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันในการสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่น ให้ยังคงยึดไทยเป็นฐานหลักในภูมิภาค และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มและเทคโนโลยีสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ