การศึกษาที่สมดุล  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ EEC:

อย่ามองข้ามการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ในบริบทการทำงานของ EEC มีจุดเน้น และแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจน และต่อเนื่อง

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ demand-driven education การดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนากำลังได้มากกว่า 15,000 คน ทำให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของกำลังแรงงานในพื้นที่ได้ดีทีเดียว

หากมองในเชิงการตอบโจทย์การทำงาน ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี เพราะนอกเหนือจากจำนวนบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญแล้ว ยังเกิดอีอีซีโมเดลที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาการศึกษาที่น่าสนใจด้วย

แต่หากมองในเชิงการพัฒนาที่สมดุล ยังเห็นการพัฒนากำลังคนด้วยวิธีการที่เน้นหนักไปทางใดทางหนึ่ง และอาจนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากโครงการหรือกิจกรรมของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการศึกษาในระบบ และมองโครงสร้างการศึกษาที่เป็นทางการเป็นส่วนมาก

ผลดีก็คือ ทำให้การเรียนรู้เกิดในพื้นที่การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นสำหรับเป้าหมายเฉพาะ ตอบโจทย์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ผลเสียก็มีคือ อาจละเลยและขาดความเชื่อมต่อกับโครงสร้างหรือส่วนประกอบอื่นในระบบนิเวศน์การเรียนรู้แบบองค์รวม

เราต้องเข้าใจว่าการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต และเกิดขึ้นในสังคมทั่วไป นอกเหนือจากการศึกษาเรียนรู้ในระบบหรือในสถานศึกษาต่างๆ แล้ว การศึกษายังเกิดขึ้นกับบริบทอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การเรียนรู้ด้วยตนเองในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามความต้องการ และอัธยาศัยของผู้เรียนเอง การศึกษาในรูปแบบต่างๆ มีบทบาทสำคัญ และเติมเต็มซึ่งกันและกัน

แม้การศึกษาในระบบมีความสำคัญ แต่การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยก็สำคัญเช่นเดียวกัน และการศึกษาที่สมดุลต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งสามรูปแบบ

หาก EEC ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาการศึกษาที่สมดุล และพัฒนารากฐานการศึกษาที่แข็งแรง การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในแหล่งต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีและ EEC ทำได้ดี เพราะมีการจัดตั้งพื้นที่การเรียนรู้ขึ้นในหลายลักษณะ เช่น UNIVERTORY มหาวิทยาลัยโรงงาน และศูนย์ Automation Training Center ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับการเรียนรู้ในศาสตร์เฉพาะทางของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และคาดว่าน่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ EEC มีการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่การสร้างแหล่งเรียนรู้หรือพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการเรียนรู้ในบริบทที่ไม่เป็นทางการกลับมีน้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการส่งเสริม และพัฒนาการศึกษาในระบบเป็นไปได้ง่ายกว่า เพราะมีโครงสร้างของหน่วยงานชัดเจนกว่า รวมทั้งเป็นที่คุ้นเคยกับการรับรู้ของคนทั่วไปมากกว่า แต่พื้นที่การเรียนรู้เหล่านี้ดูแล้วมีความเป็นทางการสูง และมีระบบระเบียบในการเข้าใช้งานหรือเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ซึ่งทำให้การเข้าใช้งานจำกัดเฉพาะกลุ่ม และไม่กว้างขวางเท่าที่ควร แต่อาจตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี หากต้องการ การพัฒนาการศึกษาที่สมดุลและยั่งยืน ก็คงละเลยการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้ที่เอื้อให้คนในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ได้อย่างสะดวกไปไม่ได้ หากมีพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้โดยง่าย จะทำให้เกิดการขยายการเรียนรู้ไปได้กว้างขวางมากขึ้น และการพัฒนาสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์