ผ่าแผนจัดการน้ำปี 66 แบ่งเค้ก 3.3 แสนล้าน กระทรวง - หน่วยงานไหน ได้เท่าไหร่?
การบริหารจัดการน้ำเป็นคำที่คุ้นเคยที่คนไทยได้ยินมาอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่มักมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ต้องได้รับการบริหารจัดการไม่ให้เกิดอุทกภัยกระทบกับชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน
แม้ว่าประเทศไทยไม่มีกระทรวงน้ำ ที่เป็นกระทรวงหลักในการรับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยตรง แต่ในทางนโยบายการบริหารจัดการทำในรูปแบบของคณะกรรมการระดับชาติที่มี คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นหน่วยงานหลัก ปัจจุบันคณะกรรมการ กนช.มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนการสั่งการในภาคปฏิบัติมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย
ทั้งนี้หากดูในแง่ของงบประมาณ วงเงินที่จัดสรรสำหรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยถือว่าเป็นวงเงินที่สูงมาก หากดูรายละเอียดจากแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปเมื่อเร็วๆนี้ใช้งบประมาณมากถึง 334,356.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท และหากดูตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำช่วง5 ปีข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำปี 2566 – 2570 มีวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท
สำหรับรายละเอียดของแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท มีจำนวนรายการที่ต้องใช้งบประมาณ 59,334 รายการ มีกระทรวงและหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 31 หน่วยงาน สามารถจัดอันดับกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำสูงสุด 5 กระทรวงแรก รวมทั้งหน่วยงานภายในที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สูงสุด ดังนี้
1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 1.59 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานในกระทรวงเกษตรที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดคือ กรมชลประทาน วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท รองลงมาคือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 3.77 พันล้านบาท
2.กระทรวงมหาดไทย ได้รับจัดสรรงบประมาณ 1.42 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานภายในกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง 6.1 หมื่นล้านบาท องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 3.01 หมื่นล้านบาท กรุงเทพมหานคร 2.25 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่มีการดำเนินการโดยจังหวัดอื่นๆ 1.24 หมื่นล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค 7.31 พันล้านบาท องค์การจัดการน้ำเสีย วงเงิน 2.3 พันล้านบาท
3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้รับจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการน้ำ 2.21 หมื่นล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ วงเงิน 1.46 หมื่นล้านบาท กรมทรัพยากรน้ำบาดาล วงเงิน 6.21 พันล้านบาท เป็นต้น
4.กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 6.27 พันล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดได้แก่ กรมเจ้าท่า 5.22 พันล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1.05 พันล้านบาท
และ 5.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 2.13 พันล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณที่จัดสรรให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทั้งหมด
จะเห็นได้ว่างบประมาณในการบริหารจัดการน้ำนั้นมีจำนวนมาก และมีหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และงบประมาณในเชิงรุกเพื่อทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และได้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง