อาณาจักรฮุนได ส่งบริษัทลูก "Hyundai Glovis" รุกตลาดกรีนโลจิสติกส์ในไทย
ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ส่งบริษัทในเครือ ฮุนได โกลวิส ร่วมทุน ซัมมิท โอโต บอดี้ และอีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ เข้ามาตั้งบริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) เพื่อเตรียมรุกตลาดโลจิสติกส์สีเขียว
โดยปักหมุดไทยศูนย์กลางการเชื่อมโยงการขนส่งมุ่งสร้างการเติบโตในตลาดอาเซียน รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานประกอบยานยนต์สมัยใหม่ในไทย
ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ แต่เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า แชโบล ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้มาตลอด
ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป นำโดย ชุง จู ยุง เติบโตมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ในช่วงการฟื้นฟูประเทศ โดยฮุนไดเป็นผู้ชนะการประมูลหลายโครงการก่อสร้างของรัฐ อาทิ สะพาน ทางด่วน ท่าเรือ และเขื่อน
รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนเส้นภาคใต้ในไทย โดยหลังจากที่โครงสร้างพื้นฐานเริ่มมีการพัฒนา และก้าวต่อมาของฮุนได คือ การผลิตรถยนต์เพื่อวิ่งบนถนนเหล่านั้น จนกลายมาเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีจำนวนการผลิตมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และในปี 2021 สามารถผลิตรถได้ 6.35 ล้านคัน
นอกจากความสำเร็จในธุรกิจรถยนต์แล้ว ฮุนได ได้ขยายโอกาสทางธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ธุรกิจการต่อเรือ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตเหล็กและวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการทางการเงิน ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต
รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ ในชื่อ “ฮุนได โกลวิส” ก่อตั้งเมื่อ 2001 เป็นผู้ให้บริการสมาร์ทโลจิสติกส์ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนำสมัย อาทิ เอไอ บิ๊กดาต้า ระบบอัตโนมัติ รวมถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไฮโดรเจน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่าตลาด “สมาร์ทโลจิสติกส์” จะมีมูลค่า 47.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีแผนขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการตั้งสำนักงานแล้วในประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2565 โจยอง จอน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และ ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีเปิดสำนักงานในประเทศไทย ของบริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) ครั้งนี้
บริษัท ฮุนได โกลวิส จำกัด ร่วมกับ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท อีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) หรือ “Hyundai Glovis Thailand” ด้วยทุนจดทะเบียน 33 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนของฮุนได โกลวิส ที่ 49% ซัมมิท โอโต บอดี้ 26% และอีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ 24%
ทั้งนี้ ฮุนได โกลวิส มีเป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือในการขนส่งและกระจายสินค้ากับธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ ตั้งแต่สินค้าอาหารไปจนถึงการขนส่งซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนประกอบ และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจกับอีก 2 ประเทศในอาเซียนที่ได้ลงทุนไปแล้ว
จัง ฮุน คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮุนได โกลวิส จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ในการลงทุนครั้งนี้บริษัทจึงตั้งใจให้ไทยเป็นฐานยุทธศาสตร์ในการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ โอกาสด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทยยังมีความต้องการในระดับสูง จากการเป็นประเทศผู้นำการส่งออกสินค้าอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ
ทั้งนี้ ฮุนได โกลวิส มีเป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือในการขนส่งและกระจายสินค้ากับธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ ตั้งแต่สินค้าอาหารไปจนถึงการขนส่งซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนประกอบ และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจกับอีก 2 ประเทศในอาเซียนที่ได้ลงทุนไปแล้ว
กรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัทซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับด้านโลจิสติกส์ในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ โดยการนำรถบรรทุกไฟฟ้าเข้ามาทดแทนรถพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การใช้พลังงานสะอาด และนำไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ขณะนี้ฮุนได โกลวิส ประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ ในกลุ่มธุรกิจของ ซีพี กรุ๊ป โดยบริษัทจะร่วมวางกลยุทธ์การขนส่งด้วยระบบกรีนโลจิสติกส์ โดยใช้รถบรรทุกขนส่งระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประหยัดพลังงาน พร้อมทั้งให้ความสำคัญในด้านระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับทิศทางของตลาดในอนาคต
โดยภายในปี 2565 จะมีการนำเข้ารถบรรทุก EV จำนวน 150 คัน เพื่อส่งสินค้าไปยังร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 13,000 สาขา ซึ่งจะมีการนำเข้ารถบรรทุก EV เพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อตอบรับการเติบโตของซีพี อีกทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขยายการกระจายสินค้าประเภทอาหารสดไปยังประเทศอื่นในในอาเซีย อาทิ มาเลเซีย และกัมพูชา