รฟท.เตรียมส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดสามสนามบิน 24 ก.ค.นี้
การรถไฟฯ เดินหน้าแก้ปัญหาผู้บุกรุกเขตทางรถไฟ ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เผยในส่วนผู้บุกรุกเขตทางรถไฟ ได้แก้ปัญหา 100% เตรียมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน 24 ก.ค.นี้
นายสมยุทธ์ เรือนงาม ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.ได้ร่วมกับกรมชลประทาน เข้าดำเนินการรื้อถอนอาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่อาศัยในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อทำให้โครงการที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ต่อประเทศนี้ ในพื้นที่ EEC เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ กรมชลประทาน นำกำลังเข้าดำเนินการรื้อถอนย้ายอาคาร และสิ่งปลูกสร้างของประชาชนที่อยู่อาศัย ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบริเวณแนวเส้นทางรถไฟโรงเรียนบ้านเขาชีจรรย์ หมู่ 11 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่เรียบร้อย
นายสมยุทธ์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาผู้บุกรุกในเขตทางก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนของ รฟท. ได้แก้ปัญหาแล้วเสร็จไปแล้ว 100% คงเหลืออีก 2 ราย ในพื้นที่ของกรมชลประทาน ที่ รฟท. ขอใช้พื้นที่ในเขตทางโครงการเท่านั้น และยืนยันว่า ได้มีการทำความเข้ากับผู้บุกรุกมาตลอด โดยหลังการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกแล้วเสร็จ รฟท. ก็มีแผนในการดำเนินการ ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ผู้ได้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นี้
ส่วนความก้าวหน้า การรื้อย้ายสาธารณูปโภค ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคลงพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 357 จุด (609 งาน) จากทั้งหมด 400 จุด (668 งาน) โดยมีสาธารณูปโภคที่ดำเนินการ รื้อย้ายหลังส่งมอบระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ จำนวนทั้งหมด 135 งาน ได้ดำเนินการแล้ว 76 งาน คงเหลืองานรื้อย้าย 59 งาน ซึ่งการรื้อย้ายสาธารณูปโภคงานสุดท้ายจะรื้อย้ายแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. 65 ส่วนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ลงพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 18 จุด (18 งาน) จากทั้งหมด 68 จุด (67 งาน)
สำหรับการแก้ปัญหา ผู้บุกรุก พื้นที่เขตทางรถไฟ และพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน ที่อยู่ในแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำความเข้าใจ เจรจาไปแล้วหลายครั้ง ถึงความจำเป็นต้องเร่งส่งพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการ ปรับสภาพเส้นทาง รองรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ตามสัญญาโดยที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจา เพื่อจ่ายค่าทดแทนให้ชาวบ้านทั้ง 2 รายไปแล้ว จากเดิมได้มีการประเมินราคาค่าทดแทน และมีการทำสัญญากันไป ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.2564 รายที่ 1 ได้รับค่าทดแทน 1,920,600 บาท รายที่ 2 ได้รับค่าทดแทน 821,929 บาท แต่ทั้ง 2 รายจะต้องยื่นเอกสารแสดงสิทธิการเช่าที่ดิน กับกรมชลประทานก่อนให้ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถแสดงสิทธิได้ รฟท.จึงไม่สามารถจ่ายค่าทดแทนตามข้อตกลงดังกล่าว
โดยต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนค่าทดแทนตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด โดยระบุให้ผู้เสียหาย ได้รับค่าทดแทนส่วนหนึ่ง โดย การรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งประกาศครอบครองไปยังคู่กรณี แต่ชาวบ้านทั้ง 2 ราย ไม่ยินยอม ในกรณีดังกล่าวการรถไฟฯ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากผู้ร้องขอไม่สามารถแสดงสิทธิในที่อยู่อาศัยได้ ก็จะกลายเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐ ไม่สามารถจ่ายค่าทดแทนได้ ต่อมา รฟท.ก็ยังได้พิจารณาจัดสรรค่าทดแทนบางส่วนเพื่อช่วยเหลือ และล่าสุด รฟท. ได้ทำหนังสือแจ้งผู้อาศัยให้มารับเงิน ค่าทดแทน ตามกำหนดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา แต่ทั้ง 2 ราย ยังไม่ยินยอม รฟท.จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเจรจาต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จึงจำเป็นต้องเข้าดำเนินรื้อถอนตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด หลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการที่รัฐส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาล่าช้า และเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนส่วนรวม
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา โครงการ มี ระยะทาง 220 กิโลเมตร 9 สถานี มูลค่าโครงการ 224,500 ล้านบาท เป็นโครงการช่วยสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ช่วยพัฒนา ที่ก่อให้เกิดการลงทุน การท่องเที่ยวต่อประเทศ ต่อเศรษฐกิจโดยสารของประเทศในอนาคต
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์