“เฉลิมชัย”แนะเกษตรกร ลุยปลูกทุเรียนมั่นใจไม่ล้นตลาด
เฉลิมชัย หนุนเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลุกทุเรียน คุมคุณภาพ ลั่น 10 ปีไม่มีตลาด ขณะ พร้อมรุกเอเปค ตั้งศูนย์จีโนม สร้างโอกาสผลไม้ไทยเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง แนะขายพันธุ์โอวฉี่ แข่งมูซานคิง มั่นใจ ปีนี้ไทยติดศูนย์กลางผลิตส่งออกผลไม้โลก ยืนหนึ่งส่วนแบ่งการตลาดในจีน 40 %
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเสวนา “ผลไม้ไทย ผลไม้โลก ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน ZERO COVID “ ว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯได้ส่งเสริมทุเรียนอย่างครบวงจรแล้ว ทั้งการผลิตและการตลาด สิ่งที่ต้องการจากเกษตรมีเพียงคุณภาพสินค้า เท่านั้น ให้ทุเรียนไทยอร่อยที่สุดในโลกโดยเชื่อว่าตลาดผลไม้ไทย มีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าได้2-4 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน โดยเฉพาะทุเรียน หากรักษาคุณภาพเอาไว้ได้ มั่นใจว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะยังไม่มีปัญหาล้นตลาด
“เกษตรกรอย่าไปเชื่อข่าวลือทั้งหลาย ตอนนี้สถานการณ์ทุเรียนยังไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิตมาก แต่ในช่วงนี้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก กระทรวงเกษตรฯได้เขาไปช่วยกระจายออกนอกพื้นที่ เพื่อให้ระดับราคาไม่ตกต่ำ และให้ผู้ซื้อได้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม
ควบคู่กับการส่งออกไปต่างประเทศ ได้ขยายตลาด ญี่ปุ่นมากขึ้นด้วยการส่งออกทุเรียนแกะเปลือก ส่วนจีนที่มีปัญหา ZERO COVID นั้น ได้เน้นย้ำมาตรการปลอดภัย ตลอดกระบวนการผลิต สำหรับปัญหาทุเรียนอ่อน ได้เน้นการประชาสัมพันธ์ โดยเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจสอบถึงแปลง และให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียน ไทยเป็นผลไม้ที่มีอัตลักษณ์เป็นซอพพาวเวอร์ทีเข้มแข็ง โดยเป็น KING OF FRUIT ยอดส่งออกในปี 64 ที่ผ่านมา ไทยทำได้ถึง 1 แสนล้านบาท
สำหรับในปี 65 คาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาด รวม 1.2 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูก ประมาณ 9 แสนไร่ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นจะพบว่า ทุเรียนมีโอกาสสร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ดูแลทั้งต้นน้ำ คือการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ กฎหมายควบคุมและป้องกัน เช่น ห้ามตัดทุเรียนอ่อน พร้อมกำกับควบคุมมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดีและเหมาะสม (จีเอพี + )มาตรการการคัดบรรจุ (จีเอ็มพี+) ของล้ง ร่วมทั้งการดูแลผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว
สำหรับปลายน้ำ กรมวิชาการดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลงของต่างประเทศ การป้องกันโควิดที่อาจติดกับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจีน ให้ความเข้มงวด เรื่อง ZERO COVID มาก ทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหาที่ผ่านมาได้ประสานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเจรจาจีนให้อำนวยความสะดวกกับผลไม้ของไทย โดยเฉพาะการตรวจสอบบริเวณหน้าด่าน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
และในปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค กรมวิชาการเกษตร จึงได้นำเสนอ มุมมองของเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG model) ด้านอาหารและการเกษตร
จะส่งผลให้มีห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์จีโนมของผลไม้ดาวรุ่งต่างๆ เป็นโอกาสของผลไม้ไทยที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูง และทั่วถึง นอกจากนี้ไทยควรศึกษาเรื่อการกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้ ซึ่งจะตอบโจทย์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรอัจฉริยะ ด้านผลไม้เพื่อเป็นแบบอย่างการการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต ได้สินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด
โดยปัจจุบันได้ทาง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ใช้บางพื้นที่นำร่องแล้ว โดยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมตรวจสอบสภาพและลักษณะของต้นทุเรียนแต่ละแปลง
นอกจากนี้ ได้นำเสนอ ในการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ถึงการสร้างเทคโนโลยี เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ ของทุเรียนผ่าน บล็อกเชน เพื่อให้ผู้ผลิตได้พบปะกับผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งกรมวิชาการเกษตรยังอยู่ระหว่างศึกษา การผลิตทุเรียนนอกฤดู เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี รวมทั้งจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น
นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า เป้าหมายของสมาคมต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกทุเรียนของโลก รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาของทุเรียนได้ทั้งต้น-ปลายน้ำ ที่ผ่านมาสมาคมฯจึงเปิด account กับจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย เพื่อเผยแพร่กระบวนการผลิต การรับประทานที่ถูกต้อง โดยถ่ายคลิปวีดีโอ ถึงกระบวนการป้องกันโควิด19 ให้ความเข้มงวดใน จีเอพี+ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค รวมทั้งการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ ZERO COVID คือปัญหาที่ผู้ส่งออกทุเรียนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาสมาคมจึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำข้อมูล เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับจีนเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งได้ผลอย่างก็ราบรื่น
ในปีนี้ผลไม้ตะวันออก ประสบปัญหาจากที่ฝนตกชุกทำให้ทุเรียนออกดอกช้า สลัดลูกอ่อนทิ้ง มีเชื้อราทำลายต้นและลูก แต่เบื้องต้นจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ประเมินว่าจะมีทุเรียนออกสู่ตลาด 7 แสนตัน เพิ่ม 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การส่งออก ในช่วง เดือน มี.ค. –พ.ค. 65 พบว่าทำได้ 2.26-3 แสนตัน เท่านั้น น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากฝนที่ตกชุกทำให้ทุเรียนออกดอกช้าไป 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นจึงต้องรอผลผลผลิตในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่
ส่วนยอดส่งออกปี 64 มีทั้งสิ้น 8.2 แสนตัน ส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดจีน แม้ว่าจะมีปัญหาหน้าด่านจากมาตรการ ZERO COVID ที่คาดว่าจะบรรเทาลงในปลายเดือนนี้ที่ผลผลิตทุเรียนจะออกสู่ตลาดน้อยลง อย่างไรก็ตามไทยรัฐบาลไทยควรหาตลาดใหม่ให้กับทุเรียนมากขึ้นควบคู่กับการรักษาตลาดหลักอย่างจีนเอาไว้
นางสาวรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน ประธานบริษัท ควีน เซน ฟรุต จำกัด กล่าวว่า บริษัทส่งออกทุเรียนแช่แข็ง -60 องศาเซลเซียล ซึ่งต่ำกว่าทุเรียนแช่แข็งทั่วไป ที่คุมอุณหภูมิที่ -35 องศาเซลเซียล ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปละลายแล้ว ละลายแล้ว เปลือกทุเรียนยังสดเนื้อทุเรียนยังสดรสชาติเหมือนเดิม เป็นการลงทุนมากกว่า เพื่อให้เป็นทุเรียนที่ดีที่สุดในโลก โดยมีการส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรืออียู และออสเตรเลีย
สำหรับในจีนนั้น บริษัทมีการกระจายทุเรียนจำหน่ายได้มากกว่า 13 มณฑล จึงพร้อมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตทุเรียนสร้างแบรนด์และส่งจำหน่ายได้เองผ่านตัวแทนบริษัท ควีน เซน ฟรุต
นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทจะผลิตเฟรนฟราย ทุเรียน หรือทุเรียนทอด จำหน่าย โดยใช้ทุเรียนตกเกรด คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรอีกมหาศาล อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลด้านการขนส่ง เนื่องจาก มาตรการ ZERO COVID ทำให้ตู้ค้างหน้าด่าน 5-7 วัน ทำให้สินค้าเสียหาย
รวมทั้งควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนโอวฉี่ หรือทุเรียนหนามดำ เนื่องจากได้รับความนิยมในจีนมาก มีราคาสูงกว่าพันธุ์มูซานคิงของมาเลเซีย ซึ่งทุเรียนหนามดำนี้ให้ผลผลิตต่อไรเท่ากับพันธ์หมอนทอง หากขยายพื้นที่มากขึ้น จะเป็นโอกาสของไทยที่กรณีมีทางเลือกทุเรียนได้หลากหลายพันธุ์ โดยอย่าห่วงด้านการตลาดเพราะในจีนยังมีความต้องการอีก
“รัฐบาลควรหาทางสร้างคุณภาพทุเรียนใต้ ให้เทียบเท่าภาคตะวันออก ทั้งสีผิวและความหวาน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการส่งออกทุเรียนในจีนได้อีกมาก “
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ปีที่ผ่ายมา ผลไทยมีมูลค่าการส่งออกถึง 2.5 แสนล้านบาท แยกเป็นผลไม้สด ส่งออกได้ 1.8 แสนล้านบาท และทุเรียนส่งออกได้ 1.09 แสนล้านเป็นครั้งแรก มากกว่าข้าวที่ส่งออกมานานกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่ไปจีน 8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 60 % นอกจากนี้ยังมีทุเรียนแช่แข็ง แปรรูป 7 หมื่น ล้านบาท
สำหรับในปี 65มีปัจจัยเสี่ยง จาก สงครามรัสเซีย –ยูเครน โควิด 19 ระลอกใหม่จีนประกาศล็อคดาวน์ ทางกระทรวงเกษตรฯจึงเตรียม18 มาตรการรับมือล่วงหน้าก่อน 3 เดือนที่ทุเรียนจะออกสู่ตลาด โดยให้เน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น จาก 30 % เป็น40% ของผลผลิต บริหารระบบโลจิสติกส์ และเพิ่มช่องทางการขนส่งไปจีน ทางรถไฟจีน-ลาว จากเดิมที่ขนส่งทางรถบรรทุก เรือและเครื่องบิน
ซึ่งการขนส่งโดยรถไฟ นี้จะช่วยลดปัญหาความแออัดบริเวณหน้าด่าน อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะเชื่อมกับ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และอังกฤษในอนาคต รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯได้สร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรต แล้ว โอกาส ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าผลไม้ของโลก คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 65นี้ อย่างแน่นอน
“ ในช่วง3 ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม่ในจีนมากขึ้น และปัจจุบันไทยครองสัดส่วนการตลาดในจีนสงถึง 40 % รองลงมาคือชิลี 15 % และเวียดนาม 6 % แม้ว่าจะมีชายแดนติดกัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพผลไม้ไทย และจากคุณภาพ และรสชาติที่ผู้บริโภคจีนยอมรับไปแล้วนั้น จะสามารถขยายตลาดในจีนได้อีกจำนวนมาก “