สร้างซีนให้ชุมชน เปิด 7 ข้อ "ดีพร้อม" ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

สร้างซีนให้ชุมชน เปิด 7 ข้อ "ดีพร้อม" ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ นำไปสู่การแก้ปัญหาความจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ไทยต้องเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน กระตุ้นให้มีการใช้จ่ายและบริโภคในประเทศเพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ รวมทั้งช่วยให้คนตัวเล็กและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ภายใต้ความท้าทายมิติใหม่

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า ในปี 2565 ดีพร้อมได้กำหนดทิศทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งเป้าพัฒนาไปสู่การเป็น ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community ซึ่งจะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยให้มีการต่อยอดภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
 

ซึ่งที่ผ่านมาดีพร้อมได้ใช้กลไกในการพัฒนาชุมชน แบ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 เรียกว่า หมู่บ้านอุตสาหกรรม โดยให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ของที่ระลึก และการยกระดับวิธีการผลิต
ยุคที่ 2 หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว หรือ หมู่บ้าน JBIC เป็นการเน้นสร้างความเข้มแข็งให้ผู้นำชุมชน  ยุคที่ 3 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ DIPROM CIV การพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สู่กลไกปัจจุบัน ยุคที่ 4 ชุมชนดีพร้อม 

สำหรับแผนชุมชนดีพร้อม มุ่งเป้าที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการถอดรหัสดึงอัตลักษณ์ของชุมชนมาเป็นจุดขาย โดยมีการดำเนินงาน 7 ข้อ ดังนี้

1. ร่างแผนชุมชนดีพร้อม เริ่มจากการศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ และวิเคราะห์จุดเน้นของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด เพื่อชี้เป้าการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยยึดหลักการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน แล้วจึงกำหนดแผนพัฒนาธุรกิจชุมชนที่มีความเฉพาะทางในแต่ละชุมชน

2. สร้างคนดีชุมชนพร้อม ปั้นผู้นำชุมชนให้มีความเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีองค์ความรู้ในทุกมิติ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ตามโมเดลดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM Heroes) คือการดึงผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาร่วมยกระดับการพัฒนาชุมชนผ่านการบริจาคที่สามารถนำไปหักภาษีได้ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก

4. แบรนด์ชุมชนดีพร้อม เน้นการสร้างแบรนด์จากเรื่องราวในท้องถิ่น สื่อถึงความโดดเด่นของพื้นที่ ยกตัวอย่าง 4 แบรนด์จาก 4 ชุมชนจังหวัดชัยนาท ได้แก่ 1) ชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา โดยใช้โรงพักสรรพยา 100 ปี 2) ชุมชนเนินขาม อำเภอเนินขาม 3) ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง และ 4) ชุมชนตลาดย้อนยุคสรรคบุรี อำเภอสรรคบุรี 

5. ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ขนมเปี๊ยะกุยหลี เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของพื้นที่อย่าง ส้มโอขาวแตงกวา ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

6.เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม ผ่านการดำเนินงานดีพร้อมเซ็นเตอร์ประจำภูมิภาค จะมีการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบเพื่อยกระดับการแปรรูปและศักยภาพในการผลิต รวมถึงส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาให้บริการตามความต้องการของชุมชน อาทิ เครื่องเผาข้าวหลามด้วยไฟฟ้า เครื่องขอดเกล็ดปลา เครื่องอบไล่ความชื้นพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ในการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก การใส่ปุ๋ย หรือ สารเคมีต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดเวลาในการดำเนิน

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีเครื่องเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เครื่องปริ้นและตัดสติ๊กเกอร์ ไปจนถึงห้องสตูดิโอถ่ายภาพผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่รองรับการให้บริการ

7. สร้างตลาดชุมชนดีพร้อม ได้มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงชุมชนใน 3 มิติ 1) ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาซื้อของในชุมชน 2) กระจายสินค้าไปขายตามร้านสะดวกซื้อ หรือ Modern Trade และ 3) ผลักดันไปสู่ตลาดออนไลน์ อาทิ ดีพร้อมมาร์เก็ตเพลส และแพลตฟอร์มอื่นๆ 

นอกจากนี้ยังมีการใช้ถุงดีพร้อม ถุงใส่ผลิตภัณฑ์ชุมชนตัวอย่างสำหรับแจกหรือเป็นของที่ระลึกในงานอีเว้นท์ โดยให้ผู้ที่ได้รับส่งฟีดแบ็คกลับมาผ่านทางคิวอาร์โค้ด