ยื่นภาษี ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม สามารถ “ขอผ่อนชำระภาษี” ทำได้ ในกรณีไหนบ้าง

ยื่นภาษี ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม สามารถ “ขอผ่อนชำระภาษี” ทำได้ ในกรณีไหนบ้าง

ขอ “ผ่อนชำระภาษี” สามารถทำได้ในกรณีไหนบ้าง เปิดขั้นตอน วิธีการ และข้อห้ามสำคัญ ต้องรู้! แล้วเงื่อนไขขอ “ผ่อนจ่ายภาษี” เป็นอย่างไร

หลังจากผู้มีรายได้ยื่นแบบฯ ภาษี หากใครที่คำนวณภาษีแล้วพบว่าไม่ต้องเสียภาษี แถมได้เงินภาษีที่หักไว้คืนด้วย คงยิ้มชื่นบานไม่น้อย

ในทางกลับกันใครที่คำนวณภาษีแล้วกลับต้องเสียภาษีเพิ่ม หากจำนวนไม่มากก็คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่มียอดภาษีที่ต้องเสียค่อนข้างสูง ถ้าไม่ได้วางแผนเตรียมตัวไว้ก่อนคงกุมขมับเป็นแน่

แต่ทางสรรพากรก็ไม่ได้ใจจืดใจดำ ถึงขนาดที่ว่าจะต้องนำเงินเต็มจำนวนมาจ่ายภาษีจนเกลี้ยงกระเป๋าขนาดนั้น ยังอะลุ้มอล่วยให้กับผู้เสียภาษีหากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็สามารถผ่อนชำระภาษีได้ ดังสามารถอธิบายได้ดังนี้

ผู้เสียภาษีแบบไหน เข้าเงื่อนไขผ่อนชำระภาษี ​

ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 หากมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม สามารถผ่อนชำระภาษีได้แบบไม่เสียดอกเบี้ย และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

- ภาษีที่ผ่อนชำระได้ต้องมียอดเงินตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป

- สามารถผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่าๆ กัน โดยไม่มีดอกเบี้ย และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

- สามารถขอรับสิทธิ์ตอนยื่นภาษีได้ทั้งระบบออนไลน์บนเว็บไซต์สรรพากร www.rd.go.th และยื่นแบบกระดาษได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ​

วิธีผ่อนชำระภาษี

หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภาษีแทนการจ่ายเต็มจำนวน ทางสรรพากรได้กำหนดวิธีผ่อนชำระไว้ 2 กรณีคือ​

1.ยื่นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ พร้อมยื่นเอกสาร บ.ช.35 จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกัน โดยขอจากเจ้าหน้าที่ได้ และสามารถผ่อนชำระภาษีเป็นทั้งหมด 3 งวด ดังนี้

- จ่ายภาษีงวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม (ตามกำหนดระยะเวลายื่นแบบฯ ภาษีครึ่งปีและสิ้นปี)

- จ่ายภาษีงวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1

- จ่ายภาษีงวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

2.ยื่นแบบออนไลน์ สามารถเลือกผ่อนชำระ ได้โดยระบบจะคำนวณยอดชำระพร้อมกำหนดวันที่ต้องชำระทั้ง 3 งวด ซึ่งงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ระบบจะให้พิมพ์เอกสารการชำระเงินได้ภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้ชำระงวดก่อนแล้ว

ตัวอย่างเช่น

​- จ่ายภาษีงวดที่ 1 ภายในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2565 (วันสุดท้ายที่สรรพากรกำหนดให้ยื่นภาษีออนไลน์) 

- จ่ายภาษีงวดที่ 2 ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2565 (1 เดือน นับจากชำระภาษีงวดที่ 1)

- จ่ายภาษีงวดที่ 3 ภายในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2565 (1 เดือน นับจากชำระภาษีงวดที่ 2)  

​ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ต้องกังวลว่าจะลืมชำระภาษีในแต่ละงวดเนื่องจากทางสรรพากรมีบริการแจ้งเตือนชำระภาษีผ่านทาง SMS เมื่อครบกำหนดวันที่ต้องชำระภาษีด้วย

ช่องทางผ่อนชำระภาษี

1.จ่ายภาษีผ่านระบบ E-PAYMENT คือสามารถจ่ายผ่านระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำรายการผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยการจ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต จากระบบของกรมสรรพากรไปสู่ระบบของธนาคาร

2.จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ของธนาคารและจุดชำระเงินต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ไปรษณีย์ไทย, 7-Eleven, Tesco Lotus, Big C, TrueMoney, CenPay

3.จ่ายภาษีผ่านช่องทางอื่น โดยการนำข้อมูลจาก Pay In Slip ที่ระบุรายละเอียดเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก และรหัสควบคุม 15 หลัก พร้อมกับจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ไปจ่ายผ่าน เช่น

- Internet Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

- Mobile Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

- Phone Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

- ตู้ ATM ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ  

- เครื่องรับฝากเงินสดของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

​4.จ่ายภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ โดยสามารถจ่ายเป็นเงินสด บัตรเครดิต บัตรเดบิต Tax Smart Card หรือ Internet Banking, Mobile Banking, Phone Banking ที่ระบุใน Pay In Slip ได้ทั้งหมด

แต่ทั้งนี้หากเลือกจ่ายภาษีที่สำนักงานสรรพากร และเริ่มจ่ายไปแล้วงวดแรก การผ่อนชำระภาษีในงวดต่อๆ ไป จะต้องทำการชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น จะไม่สามารถเปลี่ยนมาผ่อนชำระภาษีผ่านช่องทางอื่นได้

ผ่อนชำระภาษีแล้ว ห้ามหยุดจ่ายเด็ดขาด!

ดังนั้น เมื่อทราบว่าตนเองเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ให้คำนวณให้ดีก่อนว่าจะเลือกชำระภาษีแบบเต็มจำนวนหรือผ่อนชำระภาษี เพราะหากตัดสินใจเลือกแบบใดแบบหนึ่งไปแล้ว หากต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระภาษีภายหลัง จะทำได้ก็ต่อเมื่อยังไม่ได้ทำการชำระเงินภาษีเท่านั้น และจะต้องเริ่มต้นดำเนินการยื่นภาษีใหม่ตั้งแต่ต้นด้วย  

สุดท้ายหากตัดสินใจเลือกแบบผ่อนชำระภาษี ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องจ่ายภาษีให้ตรงเวลาทุกงวด และห้ามหยุดจ่ายโดยเด็ดขาด หรือหยุดจ่ายงวดใดงวดหนึ่ง สิทธิ์ในการผ่อนชำระภาษีจะหยุดลงทันที และต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งหมด พร้อมเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่