สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลไทยไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมรมต.การค้าเอเปค
ปิดฉากประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ไร้แถลงการณ์ร่วม "จุรินทร์"รับรัฐมนตรีการค้า “เอเปก” ออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ เหตุสมาชิกบางรายไม่ยอมรับเนื้อหาบางประเด็น แต่ไทยประสบความสำเร็จผลักดัน ขณะที่วงในเผย “รัสเซีย” ไม่ยอมให้บรรจุความขัดแย้งยูเครนในแถลงการณ์ร่วม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค(Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ที่ประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ซึ่งเป็นผลสรุปของการประชุมได้ เพราะสมาชิกบางเขตเศรษฐกิจ ยังมีความเป็นขัดแย้งในบางประเด็น ทำให้ความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ จึงออกเป็นแถลงการณ์ของประธาน (Chairman Statement) คือ ประเทศไทยแทน คาดว่า จะสามารถออกแถลงการณ์ของประธานอย่างเป็นทางการได้เร็วที่สุดในวันนี้
"แถลงการณ์ร่วมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีความเห็นตรงกันแบบฉันทามติ ถ้ามีแม้แต่เขตเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งเห็นไม่สอดคล้อง ก็ไม่สามารถประกาศได้ ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เนื่องจากมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผมจำเป็นต้องระบุว่าเป็นเรื่องอะไร ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันในการให้มีแถลงการณ์ร่วม เพียงแต่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เห็นไม่สอดคล้องกัน บางเขตเศรษฐกิจเห็นไม่ตรงกัน เป็นที่มาที่ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าครั้งนี้จะไม่มีแถลงการณ์ร่วม แต่ถือว่าไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะหัวข้อหลักที่ไทยกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “Open Connect Balance”เป็นไปตามเป้าหมาย และบรรลุผลเป็นรูปธรรม โดยในเรื่อง Open คือการเปิดกว้างและเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันคือการที่เราจะนำเอเปคไปสู่การจัดทำเอฟทีเอ FTAAP
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ทำให้ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งนี้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม ได้เนื่องจากมีบางประเทศสมาชิก เสนอให้มีการบรรจุเรื่องความขัดแย้งกรณีสงครามรัสเซียยูเครนเข้าไปในแถลงการณ์ร่วมด้วย แต่รัสเซียไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับเวทีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค จึงทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้
สำหรับผลสรุปการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งที่ประชุม 21 เขตเศรษฐกิจมีความเห็นร่วมกัน ว่า สนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพรมแดนควรมีการอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นอีกครั้ง การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนให้มีการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแหล่งทุนห่วงโซ่อุปทาน สำหรับทุกภาคส่วนการผลิตและภาคส่วนเศรษฐกิจโดยเฉพาะสำหรับ SMEs และ Micro SMEs กลุ่มเปราะบาง สตรี ผู้ด้อยโอกาส แรงงานและผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุดรวมถึงดูแลและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
การมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าและเปิดกว้างอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน มุ่งเน้นการสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการในเวทีสากลทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและหลังโควิด โดยใช้เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซหรือรูปแบบอื่นๆให้เป็นประโยชน์และเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น สนับสนุนการนำ BCG Model มาใช้ รวมถึงการใช้ใน MSMEs ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการรวมทั้งการมุ่งเน้นในเรื่องสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานทางเลือกการใช้ ไฮโดรเจนเป็นต้น รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมการเปิดตลาดพลังงานสะอาดต่อไปและสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานในกลุ่มประเทศเอเปคเกิดขึ้น