ธปท. ต่อลมหายใจแบงก์ จ่อยืดเวลาขาย ‘หนี้เอ็นพีเอ’ อีก 2 ปี

ธปท. ต่อลมหายใจแบงก์ จ่อยืดเวลาขาย ‘หนี้เอ็นพีเอ’ อีก 2 ปี

“ธปท.” จ่อผ่อนเกณฑ์ “แบงก์” ขายเอ็นพีเอ 2 ปี ไม่ต้องสำรองเพิ่ม หวังลดผลกระทบโควิด - ขายทรัพย์ไม่ออก ลดผลกระทบโควิด

      ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์อสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน  เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถาบันการเงินอาจจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ออกไปได้ยากขึ้น และมีแนวโน้มรับโอนอสังหาฯ เข้ามามากขึ้น จากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

      ทั้งนี้ ธปท.จึงผ่อนผันระยะเวลาการถือครองเป็นการทั่วไป ให้สถาบันการเงินไม่ต้องนับระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขายระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2565 - ธ.ค.2566 เป็นระยะเวลา 2  ปี และไม่ต้องกันเงินสำรองเพิ่มเติมในระยะเวลาดังกล่าว

       ส่วนกรณี อสังหาริมทรัพย์รอการขายที่เคยได้รับการผ่อนผันระยะเวลาการถือครองเป็นรายกรณี จากธปท.แล้ว ให้ได้รับการผ่อนผันตามเงื่อนไขเดิมต่อไป และไม่ต้องนับระยะเวลาการถือครองตามกรณีข้างต้น ทำให้สถาบันการเงินสามารถถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขายดังกล่าวได้เพิ่มเติมอีก 2 ปี นับจากวันที่ครบกำหนด

        นอกจากนี้ กรณีที่การถือครองสินทรัพย์รอการขายยังมีอุปสรรคในการจำหน่าย และเข้าเงื่อนไขที่ธปท.กำหนด เช่นอยู่ในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรืออยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรือยังมีกรรมสิทธิ์ร่วม ที่แบงก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ กรณีนี้ให้แบงก์สามารถเร่งจำหน่ายทรัพย์ออกได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่อุปสรรคหมดไป

       โดย ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็น และเสนอแนะต่อร่างหลักเกณฑ์อสังหาริมทรัพย์รอการขายได้ ตั้งแต่ 18 พ.ค.-1 มิ.ย.2565

       นายธรัฐพร เตชะกิจขจร ผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า หากมีการแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสถาบันการเงิน สามารถลดแรงกดดันในการขายเอ็นพีเอ ออกมาได้ ในภาวะที่มีผลกระทบจากโควิด-19

     เพราะวันนี้สิ่งที่แบงก์เผชิญคือ การถือสินทรัพย์รอการขายอยู่จำนวนมาก ดังนั้น หากสามารถคลายหลักเกณฑ์การขายเอ็นพีเอได้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเงินในระยะข้างหน้า

      “เราเชื่อว่าดีต่อสถาบันการเงิน ระบบการเงินเพราะวันนี้สินทรัพย์รอการขายเยอะมาก เหมือนเขื่อนที่กำลังจะแตก จากของที่มีอยู่เยอะในตลาด ดังนั้น หากเกณฑ์นี้มาชะลอการออกของน้ำจากเขื่อนได้ ก็จะดีกับแบงก์ ทำให้ลดแรงกดดันในการเร่งขายออกได้ ส่วนเรามองว่าไม่ได้ผลกระทบ เพราะวันนี้ของที่มีอยู่ในตลาดมีเยอะมาก เพราะแบงก์มีกำหนดขายเอ็นพีเอ และเอ็นพีแอล ออกมาเยอะอยู่แล้วในปีนี้และปีหน้า”

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์