EEC คาด 3 ปี อุตสาหกรรมดิจิทัลลงทุน 5 แสนล้านบาท

EEC คาด 3 ปี อุตสาหกรรมดิจิทัลลงทุน 5 แสนล้านบาท

อีอีซี รุกต่อยอดความร่วมมือญี่ปุ่น เร่งดึงนักลงทุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล ระบบออโตเมชั่น พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว BCG เดินหน้าพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ กว่า 10,000 แห่ง พัฒนาทักษะบุคลากร 50,000 คน เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี

อีอีซี ได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคเอกชนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เชื่อมโยงด้านการผลิตร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว BCG ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และความร่วมมือด้านสาธารณสุขผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งกรอบความร่วมมือพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น และประสบผลสำเร็จในความร่วมมือกับ Mitsubishi Electric พร้อมพันธมิตรเครือข่าย ซึ่งได้พัฒนา EEC Automation Park ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชั่น

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี คณิศ แสงสุพรรณ ระบุ  อีอีซี ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงาน และภาคเอกชนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้พัฒนา EEC Automation Park ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนประยุกต์ใช้ ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชั่น สร้างความเชื่อมโยงให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ อีอีซี  

รวมทั้งได้ร่วมกับ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) JETRO และหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพ (JCC) ดึงนักลงทุนญี่ปุ่น ผลักดันการใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชั่น พัฒนา Smart Factory 4.0 ในไทยคาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ การลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุน 5G ระบบหุ่นยนต์ ออโตเมชั่น ในอีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี สร้างงาน รายได้ให้คนไทย และสนับสนุนให้ภาคการผลิตของไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ทัดเทียมทั่วโลก

โดยอีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 65 นำโรงงานอุตสาหกรรมในอีอีซี ทำงานร่วมกับธุรกิจที่ให้บริการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายและเทคโนโลยี (System Integrators) หรือ SI พร้อมสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบออโตเมชั่น ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และภายใน 3 ปีข้างหน้า (2568) ไม่น้อยกว่า 6,000 แห่ง คาดว่าไม่เกิน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ลดอัตราการเสื่อมของเครื่องจักร ลดภาระงานช่วยประหยัดพลังงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก สร้างรายได้ให้แรงงานไทย 

อีอีซี ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคเอกชนญี่ปุ่นอีกด้านที่สำคัญคือ การเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network  ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน โดยขณะนี้ได้ขับเคลื่อนผ่าน EEC Automation Park ร่วมกับทาง มิตซูบิชิฯ และพันธมิตรเครือข่าย ซึ่งได้อบรมบุคลากรด้านระบบออโตเมชั่นแล้วกว่า 1,000 คน และขณะนี้ได้เตรียมอบรม อยู่ในแผน ซึ่งคาดว่าภายในปี 2565 นี้ จะสามารถผลิตบุคลากรทักษะสูงด้านดิจิทัลได้เพิ่มกว่า 2,000 คน 

 

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์