อาเซียนมั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัว ดันจีดีพีปี 66 ขยายตัว 5.2 %
ไทยถกอาเซียน เร่งแผนขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก้าวสู่ยุคดิจิทัล มั่นใจเศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังโควิด-19 คาดจีดีพีอาเซียนปี 66 ขยายตัว 5.2%
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน สมัยพิเศษ (AEMs’ Special Meeting) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมแบบพบหน้าครั้งแรก หลังจากที่มีการประชุมทางไกลตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยครั้งนี้อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งได้หารือผลักดันประเด็นสำคัญภายใต้แนวคิด “ASEAN A.C.T: Addressing Challenge Together” ของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนของปีนี้ แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคจากความท้าทาย ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวจากโควิด-19 ในระดับที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก
สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคต ควรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค (APEC) ของไทยในปีนี้ด้วย
“ที่ประชุมเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะกลับมาฟื้นตัวและแข็งแกร่งได้อีกครั้ง โดยคาดว่า ในปีนี้ GDP ของภูมิภาคจะขยายตัวถึง 4.9% และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นถึง 5.2% "
โดยควรเร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ACRF) ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างการฟื้นฟูระบบสาธารณสุข การส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ความมั่นคงของมนุษย์ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของตลาดภายในอาเซียน การเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการมุ่งหน้าไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน และพร้อมปรับตัวมากขึ้น โดยในส่วนของเสาเศรษฐกิจ มีมาตรการสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อย ด้าน ICT เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศนอกกลุ่ม โดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียนมากขึ้น โดยอาเซียนได้ย้ำจุดยืนเรื่องการเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส ยึดมั่นในหลักเกณฑ์ และความเป็นแกนกลางของอาเซียน พร้อมกับเน้นย้ำหลักการและวัตถุประสงค์การมีส่วนร่วมกับประเทศนอกกลุ่ม ภายใต้กลไกมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งจะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตามความร่วมมือที่มีอยู่ในภูมิภาคและขยายความร่วมมือไปในด้านอื่นๆ ซึ่งจะรวมถึงความร่วมมือทางทะเล และการเชื่อมโยงระหว่างกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
นายสรรเสริญ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญ และการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าควรเคารพหลักการและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ รวมถึง WTO อาทิ การห้ามเลือกปฏิบัติ สำหรับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ควรคำนึงถึงพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยไทยเห็นว่า อาเซียนควรแนะนำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยเฉพาะอียู หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อแอบแฝงการกีดกันทางการค้า
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังสนับสนุนให้อาเซียนเริ่มศึกษาเรื่องข้อริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะสามารถผลักดันการค้าภายในอาเซียน และส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าโลก และข้อริเริ่มสาขาสำคัญที่จะช่วยรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข อาทิ อาหาร วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ โดยคำนึงถึงความสนใจและความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ
สำหรับในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค. 2565) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 31,125.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกจากไทยไปอาเซียน มูลค่า 17,906.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17% และการนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 13,218.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.4%
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์