ซีพีเอฟ ปั้น Meat Zero บุกแพลนต์เบส ปักธง 3 ปีผงาดเบอร์ 1 ตลาดเอเชีย
ประเดิมวันแรกของงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสุดยิ่งใหญ่และครบวงจรสุดในเอเชีย หรือ THAIFEX-ANUGA World of Food Asia 2022 ผู้ประกอบการเล็กใหญ่ ตบเท้าเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก รวมถึงนักลงทุนต่างชาติเดินกันขวักไขว่เพื่อสำรวจและเปิดโต๊ะเจรจาการค้า
ขณะที่ยักษ์ธุรกิจอาหารของไทยและผงาดใหญ่เวทีโลกอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มีการนำเสนอเมนูนวัตกรรมมากมาย บนพื้นที่ 250 ตารางเมตร(ตร.ม.)
อาณัติ จุลินทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซีพีเอฟ ฉายภาพบรรยากาศงาน THAIFEX วันแรกถือว่าคึกคักอย่างยิ่ง ลูกค้ายุโรป สหรัฐ เอเชียบางประเทศเว้นจีน เข้ามาเยี่ยมชมงานค่อนข้างมาก จึงคาดการณ์จะสร้างโอกาสให้ภาคการส่งออกอาหารไทยสู่ตลาดโลกมีการเติบโตขึ้น
งาน THAIFEX ปี 2565 ซีพีเอฟ ชูคอนเซ็ปต์ “FOOD FOR THE NEXT DECADE” เทรนด์อาหารเพื่ออนาคต โชว์ศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น “บริษัทอาหารแห่งอนาคต” หรือ Food Tech Company รองรับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการตระหนักถึงความยั่งยืนด้านอาหารมากขึ้น อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีตัวแปรจากโรคโควิด-19 ระบาด รวมถึงสถานการณ์สงคราม เป็นต้น
ดังนั้น ซีพีเอฟ จึงแบ่ง 5 โซน เพื่อนำเสนอโปรดักท์ไฮไลท์ ได้แก่ 1.เนื้อจากพืชหรือแพลนต์เบส แบรนด์ “Meat Zero” เกาะกระแสผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านอาหาร กลุ่มผู้บริโภคสายทานผักหรือวีแกน รวมถึงกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการบริโภคผัก(Flexitarian) โซนที่ 2 ผลิตภัณฑ์กลุ่มของสด “ไก่เบญจา” และ “หมูชีวา” โซนที่ 3 ผลิตภัณฑ์กลุ่มพร้อมรับประทาน ตอบโจทย์ผู้บริโภครักสะดวกมากขึ้น
โซนที่ 4 ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แบรนด์ INNOWENESS เจาะกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้น พร้อมเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ Jelly BlackBit และ 5.ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Cooking Helper ได้แก่ ซุป ซอส ผงปรุงรส ช่วยการปรุงอาหารเองที่บ้านสะดวกขึ้น ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคทำงานที่บ้าน อยู่บ้านมากขึ้น เนื่องจากโควิด-19 ระบาด
แม้สินค้าเด่นมากมาย แต่หนึ่งในพระเอกของปีนี้ คือการลุย “แพลนต์เบส” “Meat Zero” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ BEST PLANT-BASED BRANDING จาก Root The Future Plant-Based Food Awards 2021 และรางวัลสุดยอดผู้ส่งออกด้านนวัตกรรมอาหารแห่งปี (The Export Initiative of the Year - Food) จากเวที The Asian Export Awards 2021 จัดโดย Manufacturing Asia สื่อชั้นนำด้านการส่งออกระดับภูมิภาคเอเชีย
แผนการทำตลาด Meat Zero นอกจากเสิร์ฟผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ตลาดต่างประเทศเป็นอีกขุมทรัพย์ใหญ่ที่ซีพีเอฟหมายตา จากนำร่องส่งออกไปฮ่องกง สิงคโปร์ ยังเดินหน้าขยายสู่ตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐฯ สร้างการเติบโต ซึ่งเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทต้องการผลักดันยอดขายแตะ 200 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตหลัก 100% จากปีก่อนแพลนท์เบสทำรายได้ราว 250 ล้านบาทเท่านั้น
“ตลาดแพลนต์เบสในเอเชียที่น่าสนใจคือจีน เพราะมีการบริโภคโปรตีนจากพืชเป็นพันปี อย่างเต้าหู้ รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อีกทั้งสังคมสูงอายุ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนกลุ่มนี้เปลี่ยนไปด้วย”
อาณัติ ขยายความอีกว่า เป้าหมายใหญ่ของซีพีเอฟ ต้องการปักธงแบรนด์ Meat Zero ขึ้น “เบอร์ 1” แพลนต์เบสในเอเชีย ภายในปีนี้ และอีก 3 ปี ขอเคียงบัลลังก์ 1 ใน 3 ผู้นำแพลนต์เบสโลก
การสานภารกิจดังกล่าว บริษัททุ่มงบลงทุนราว 300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแพลนต์เบสที่สมุทรสาคร กำลังผลิต 12,000 ตันต่อปี เพื่อส่งออกสินค้าสู่ตลาดเอเชียและสหรัฐ โดยจะเริ่มผลิตปลายปีนี้ บริษัทยังร่วมทุนกับพันธมิตรที่สาธารณรัฐเช็กเพื่อผลิตแพลนต์เบสกำลังผลิต 9,000 ตันต่อปี ส่งออกไปยังตลาดยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน เป็นต้น อนาคตจะ “เพิ่มโรงงาน” สร้างฐานผลิตให้ครอบคลุมตลาดด้วย
"ตลาดแพลนต์เบสในต่างประเทศเติบโตเร็ว ประชากรอังกฤษมีการบริโภคต่อหัวสูง ส่วนสหรัฐเป็นตลาดใหญ่มาก เพราะประชากรมหาศาล ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ทาน คือกลุ่มวีแกน และ Flexitarian ซึ่งขยายตัวเร็วมาก”
การคิกออฟแพลนท์เบสซีพีเอฟมี Meat Zero เป็นแบรนด์หัวหอก แต่บริษัท มองแบรนด์ใหม่ เสริมแกร่งในการทำตลาดด้วย ด้านการทำตลาดในเวทีโลก มีแต้มต่อจากบริษัทในเครือเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ ควบคู่ขยายช่องทางจำหน่ายสู่ห้างค้าปลีก ฟู้ดเซอร์วิสต่างๆด้วย
“ตลาดอาหารกำลังเปลี่ยนแปลง ฟู้ดเทคมีความสำคัญมากขึ้น ซีพีเอฟมี Meat Zero ที่เป็นสุดยอดนวัตกรรมอาหารตอบโจทย์ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน เทรนด์อาหารในทศวรรษใหม่ คือประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน ใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบัน 7,400 ล้านคน ส่งผลให้โจทย์ใหญ่ของผู้ผลิตอาหาร ต้องตระหนักถึงความยั่งยืนด้านอาหารมากขึ้น แนวทางการผลิตอาหารจะมาจากพืช ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นสิบถึงร้อยเท่า”
ปัจจุบันแพลนท์เบสในตลาดโลกมีมูลค่า 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30-40% ตลาดใหญ่ยิ่งขึ้นหากรวมกับผลิตภัณฑ์นมจากพืชมูลค่าทะยานถึง 70,000 ล้านดอลลาร์
“ตลาดแพลนต์เบสในโลกมีสัดส่วนน้อยมาก ไม่ถึง 1% แต่ระยะยาวหรือกินเวลานับสิบปี สัดส่วนอาจเพิ่มแตะ 30% เพราะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกลงมาเล่นในตลาด เพื่อจับเทรนด์นี้ถ้วนหน้า”