สกพอ.โชว์ผลงาน 4 ปี ลุยนวัตกรรมพลิกโฉม “อีอีซี”
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดำเนินการมาได้ 4 ปี นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้สรุป “4 ปี อีอีซี ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติอย่างยั่งยืน” เพื่อรายงานการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี นอกจากภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแล้ว หัวใจสำคัญคือ การพัฒนาพื้นที่และสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมโดยผลักดันแผนพัฒนาภาคการเกษตร อาทิ การใช้ตลาดนำการผลิตใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งจับมือธนาคารต่างๆ เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจขยายกิจการที่ยั่งยืน
พร้อมกับยกระดับการท่องเที่ยวให้กลับมา โดยมีแนวคิดการปล่อยสัตว์ทะเลเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ชุมชน พร้อมรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนในอีอีซี
ตลอดการทำงาน 4 ปี ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน ทำให้ปัจจุบันอีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งให้ไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก
“ด้วยความตั้งใจให้เศรษฐกิจอีอีซีขยายตัวเกิน 5% ซึ่งการดึงเศรษฐกิจ 2 ปีแรกทำได้ แต่ปี 3-4 มีวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 6% ในขณะที่อีอีซีติดลบ 8% เพราะอุตสาหกรรมเจอปัญหาส่งออก แต่ยังเดินหน้าเชื่อมโยงเอเชีย อาทิ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น เพื่อให้ไทยเข้าสู่กลไกการค้าการลงทุนโลก”
โชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ.กล่าวว่า ได้ผลักดันโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) สำเร็จ 4 โครงการหลัก คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเกิดการลงทุนรวมภาครัฐและเอกชน 655,821 ล้านบาท ภาครัฐลงทุนเพียง 36% ซึ่งได้รับผลตอบแทน 440,193 ล้านบาท
สำหรับความก้าวหน้าต่อไป โครงการรถไฟความเร็วสูงจะส่งมอบพื้นที่ 100% ซึ่งเอกชนได้ลงทุนตามแผนและก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี โดยช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาเปิดปี 2569 โครงการสนามบินอู่ตะเภาจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568
โครงการท่าเรือมาบตาพุด เริ่มออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง กำลังก่อสร้างงานทางทะเลและทำ EHIA ท่าเทียบเรือ F
นงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านการต่างประเทศ สกพอ.กล่าวว่า อีอีซีได้มีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ โดยการลงทุนระยะที่ 1 สำเร็จเร็วกว่าเป้าหมายใช้เวลาเพียง 4 ปี (2561-2564) อนุมัติการมูลค่าการลงทุน 1.72 ล้านล้านบาท ใช้งบประมาณรัฐเพียง 5% จากที่ตั้งเป้าหมายใน 5 ปีแรก (2561-2565)
“4 ปี อีอีซีประสบมรสุมมากแต่ฝ่าฝันมาได้ จากการศึกษาพบว่าการลงทุนอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจับตามองเอเชียเป็นตลาดและฐานการผลิตสำคัญ เราต้องวางโลจิสติกส์คมนาคมให้ทั่วถึงไม่ใช่เฉพาะในอีอีซี แต่ต้องเชื่อมเพื่อนบ้านเป็น Supply chain Network”
ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สกพอ.กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา ได้ตั้งสัญญาณ 5G ครบ 100% ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ใช้ 5G กว้างขวาง ต่อยอดพัฒนาภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาระดับชุมชนและการจัดการข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจ
รวมทั้งผลักดัน “บ้านฉาง” สู่เมืองอัจฉริยะรองรับศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยโครงการ EEC Tech Park มูลค่าลงทุน 20,000 ล้านบาท จะก่อสร้างเฟส 1 ภายในปี 2567
ขณะที่เมืองพัทยาได้วางโครงสร้างพื้นฐานเสา 5G แล้ว 100 เสา และกำลังขยายเพิ่มเติมเพื่อให้พัทยาเป็นเมืองอัจฉริยะในปี 2565 จะนำร่องต้นแบบ EEC Common Data Lake นำข้อมูล Data platform ภาครัฐและเอกชน ใช้ประโยชน์ต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะเกิดมูลค่าธุรกิจ 1 ล้านล้านบาท ได้ประโยชน์เพิ่ม 5 เท่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อเสาสาย 2 แสนล้านบาท
เป้าหมายต่อไปจะเร่งผลักดันให้โรงงานในอีอีซีเป็นการผลิตแบบ อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านระบบหุ่นยนต์ ออโตเมชั่น จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 30% ซึ่งเริ่มแล้ว 40 โรงงาน และปี 2565 จะเพิ่มเป็น 200 โรงงาน (ขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 30% เอสเอ็มอี 50%) และปี 2568 โรงงาน 6,000 แห่ง จะก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ
รวมทั้งการเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง โดยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ ซึ่งตั้งเป้าภายใน 4 ปี พัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซีด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ไม่น้อยกว่า 50,000 คน
ธัชพล กาญจนกุล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. กล่าวว่า ได้เดินหน้าพัฒนาด้านสังคมผ่านแนวคิด 5 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างเครือข่าย และสร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยมี 5 โครงการนำร่อง ได้แก่
1.พัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ สู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมาตรฐานโลก คู่การเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำ
2.การพัฒนา Wellness Center ผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางพื้นที่ดูแลสุขภาพด้วยเทคนิคการแพทย์สมัยใหม่
3.พัฒนาวิสาหกิจชุมชน พัฒนาด้านการบริหารจัดการ สร้างเครือข่าย ส่งเสริมสินค้าโอทอปและบริการ
4.ร่วมกับ 7 สถาบันการเงินสนับสนุนบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อประชาชนและผู้ค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้บริการทางการเงินในอีอีซีแล้ว 17,245 ล้านบาท และให้บริการค้ำประกัน 84,367 ล้านบาท
5.แผนพัฒนาการเกษตรเป็นต้นแบบการใช้ตลาดนำการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ แก้ไขผลผลิตล้นตลาด
ส่วนความก้าวหน้าต่อไปจะ ยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาเมืองที่ทันสมัย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้จำนวนรายได้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 20% อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 20% วิสาหกิจ ธุรกิจชุมชน มีโอกาสเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้