ไร้แถลงการณ์ร่วมรมต.การค้าเอเปค ส่งสัญญาณ เวทีสุดยอดผู้นำเอเปคปลายปีนี้
บทสรุป ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 7 ชาติ นำโดยสหรัฐ ใช้เวทีรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประท้วง รัสเซียบุกยูเครน อ้างทำให้เกิดวิกฤตความมั่นคงอาหารโลก ขณะที่”จุรินทร์”ยันไม่กระทบการเป้าหมายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ชูโมเดลบีซีจี พร้อมเดินหน้าผลักดันการจัดทำเอฟทีเอเอพี
สหรัฐและชาติพันธมิตร ใช้เวทีเอเปคแสดงจุดยืนประท้วง รัสเซียบุกยูเครน ไม่ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ด้านไทยเน้นย้ำ ปิดฉากไปแล้วสำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 29-22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการจบที่ไม่ค่อยสวยงามมากนัก เพราะไร้แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งปกติการประชุมเอเปคจะต้องแถลงการณ์ร่วม เพื่อสรุปผลการเจรจา และนำเอาผลการเจรจาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค
สัญญาณการบอกเหตุมาจากวันแรกของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ที่ 5 ชาตินำโดยสหรัฐตามด้วย แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นได้วอล์คเอาท์ ในระหว่างที่รัสเซียกล่าวถ้อยแถลง ซึ่งมีรายงานว่า สาเหตุสำคัญมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน
จนเป็นที่มาของการไม่มีแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีการค้าเอเปควันสุดท้ายคือวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาเพราะบางเขตเศรษฐกิจเสนอให้มีการบรรจุเรื่องความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนเข้าไปในแถลงการณ์ด้วย เพราะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลก แต่รัสเซียไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเวทีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก จึงทำให้ความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์
”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ "รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมครั้งนี้ ออกมายอมรับว่า เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ที่ประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ซึ่งเป็นผลสรุปของการประชุมได้ เพราะสมาชิกบางเขตเศรษฐกิจ ยังมีความเป็นขัดแย้งในบางประเด็น ทำให้ความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์แถลงการณ์ร่วมจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีความเห็นตรงกันทั้งหมด ที่เรียกว่าเป็นฉันทามติ ถ้ามีแม้เขตเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งเห็นไม่สอดคล้อง ก็ไม่สามารถประกาศได้ จึงออกเป็นแถลงการณ์ของประธาน (Chairman Statement) คือ ประเทศไทยแทน คาดว่า จะสามารถออกแถลงการณ์ของประธานอย่างเป็นทางการได้เร็วที่สุด
“เหตุการณ์ที่เกิดขื้นไม่ทำให้เอเปคสะดุด หรือความร่วมมือหยุดชะงัก สมาชิกจะยังคงเดินหน้าความร่วมมือเหมือนเดิม และสนับสนุนประเด็นต่างๆ ที่ไทยผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ทั้งการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เอเปก, บีซีจี โมเดล (เศรษฐกิจชีวิภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ฯลฯ”
ต่อมา 7 ชาติสมาชิก ภายใต้การนำของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ทั้งญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และชิลี ได้ออกเอกสารร่วมกัน เพื่อประณามการปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียที่มีต่อยูเครน ที่นอกจากจะส่งผลทางด้านมนุษยธรรมแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และยังบั่นทอนความสามารถในการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทั้ง 7 ชาติ เน้นย้ำว่า สนับสนุนเอเปค และมุ่งมั่นจะช่วยเหลือประเทศไทย ในฐานะประธานเอเปกในปีนี้ ให้ส่งต่อประเด็นต่างๆ ที่ไทยจะผลักดันต่อสมาชิกในปีนี้ให้ได้ ขณะเดียวกันเรามุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค และรักษากฎหมายระหว่างประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่การประชุมเอเปก ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันของสมาชิกทุกเขตเศรษฐกิจได้ เช่น ปี 2017 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ, ปี 2018 ที่ปาปัว นิวกินี แต่การประชุมในปีต่อๆ มายังเกิดขึ้นได้ ทั้งในปี 2019 จนถึงปี 2022 อย่างไรก็ตาม แม้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ แต่จะไม่ทำให้ความร่วมมือของเอเปกสะดุด หรือไม่คืบหน้า สมาชิกทั้งหมด เห็นพ้องต้องกันที่จะยกระดับความร่วมมือของเอเปกไปเป็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกันเหมือนเดิม และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายในปี 2040 (พ.ศ.2583) หรืออาจจะเร็วกว่านั้น
เวทีการค้าเอเปคกลายเป็นเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ชาติมหาอำนาจและพันมิตร ใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยที่รัสเซียบุกยูเครน ขณะที่ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมต้องจัดการประชุมให้ราบรื่นที่สุด และสงวนท่าทีต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คงต้องจับตาการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคปลายปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะมีเอฟเฟ็กต์ต่อเนื่องหรือไม่