"อินเดีย" เที่ยวไทยทะลุแสนคน! ซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ชดเชยตลาดจีน
ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อปี 2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก “ตลาดเอเชียแปซิฟิก” มากถึง 31 ล้านคน ครองสัดส่วนกว่า 77% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน แต่เมื่อทางการจีนยังคงยึดนโยบาย Zero Covid ไม่อนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวนอกประเทศ
ส่งผลต่อ “นักท่องเที่ยวจีน” เสาหลักของท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนเกือบ 11 ล้านคนในปีดังกล่าว
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงต้องแก้เกมครั้งใหญ่! ดึงตลาดระยะใกล้เข้ามาชดเชยในปี 2565 โดยเฉพาะ “นักท่องเที่ยวอินเดีย” หนึ่งในตลาด “ซูเปอร์สตาร์” ผนึกกำลังร่วมกับตลาดอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก
ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ในปี 2565 ททท.ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวอินเดี
และถ้าเป็นไปตามนี้ นักท่องเที่ยวอินเดียจะเป็นตลาดที่เดินทางเข้าไทยสูงสุดอันดับ 1 ในปีนี้ หลังจากเมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทย 1.96 ล้านคน และเคยตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านคน แต่ต้องมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 ตลาดอินเดียจึงชะลอการเดินทาง ทำให้ในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยจำนวน 261,730 คน และปี 2564 จำนวน 6,544 คน
โดยจากข้อมูลล่าสุดของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-24 พ.ค.2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยอันดับ 1 คือ อินเดีย จำนวน 100,884 คน โดยนับตั้งแต่รัฐบาลไทยยกเลิกระบบ Test & Go มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นมา หนุนนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน ส่วนตลาดอันดับ 2 คือ สหราชอาณาจักร มีจำนวน 89,745 คน รองลงมาคือ เยอรมนี 74,104 คน สหรัฐ 66,036 คน และมาเลเซีย 62,192 คน
ด้านกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดอินเดีย ทาง ททท.ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของสายการบิน “Go First” ถึงการเปิดเส้นทางบินเชื่อมโยงพื้นที่ใหม่ๆ ระหว่างอินเดียและไทย เช่น เชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมตลาดร่วมกับ “EaseMyTrip” ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) รายใหญ่ เพื่อกระตุ้นการเดินทางช่วงปลายปี 2565 และเจาะกลุ่มความสนใจพิเศษ พร้อมขยายความร่วมมือกับสายการบินไทย ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับ “เวดดิ้ง แพลนเนอร์” ในอินเดีย ได้แก่ Rudra Event, FWP และ Wedding Chapters มีแผนนำคู่แต่งงานชาวอินเดียกว่า 400 คู่มาจัดงานในไทยปลายปีนี้!
หลังจากเมื่อวันที่ 18-20 พ.ค.ที่ผ่านมา ททท.ได้นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย 28 ราย เข้าร่วมงาน “South Asia Travel and Tourism Exchange (SATTE) 2022” ณ กรุงนิวเดลี เกิดการเจรจาธุรกิจกว่า 6,895 นัดหมาย คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 649.44 ล้านบาท
“ขณะนี้รัฐบาลจีนยังไม่มีความชัดเจนเรื่องเปิดประเทศให้คนออกท่องเที่ยวนอกประเทศ ททท.จำเป็นต้องหาตลาดอื่นๆ มาทดแทนตลาดจีน ซึ่งอินเดียจะมีส่วนมาทดแทนได้ เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรสูงและมีเที่ยวบินเข้าไทยจำนวนมากในช่วงนี้”
ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า มองว่ายังต้องรอการฟื้นตัวของตลาด “นักท่องเที่ยวจีน” อีกสักพัก! เนื่องจากปัจจุบันเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จนต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง เช่น ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้ในช่วงนี้รัฐบาลจีนต้องดำเนินนโยบาย Zero Covid อย่างต่อเนื่อง การเปิดประเทศอนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวนอกประเทศแบบทันทีทันใดนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย!!
“ทางสมาคมฯได้รับรายงานจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจีนมาว่า ถ้ารัฐบาลจีนสามารถพิสูจน์ได้ว่ามียารักษาโควิด-19 ให้หายง่าย ก็จะมีการเปิดประเทศโดยเร็วที่สุด แต่ตอนนี้ต้องพิสูจน์เรื่องประสิทธิภาพของยาให้ได้ก่อน ทำให้ในช่วงนี้ภาคเอกชนท่องเที่ยวไทยต้องหาโอกาสจากตลาดอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ มาเสริมก่อน”
ธเนศวร์ เล่าเพิ่มเติมถึงทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวระยะใกล้ของ ททท.ด้วยว่า มีทั้งกลยุทธ์ “ควิกวิน” (Quick Win) มุ่งฟื้นคืนฐานตลาดกลุ่มกระแสหลัก กระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซ้ำ ขยายฐานกลุ่มเดินทางเที่ยวไทยครั้งแรก พร้อมส่งเสริมการเดินทางแบบตลอดทั้งปี (All Year Round) โดยเฉพาะตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ “เพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ” (Quality) กระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มความสนใจพิเศษ อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มคู่แต่งงานและฮันนีมูน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา และกลุ่มลักชัวรี
อีกกลยุทธ์สำคัญคือ “5 NEWs” มุ่งพลิกโฉม เปลี่ยนมุมมอง และสร้างภาพจำใหม่ ได้แก่ “New Segment” นักท่องเที่ยวศักยภาพกลุ่มใหม่ๆ ครอบคลุมตลาดเป้าหมายทั้งในจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์ เช่น กลุ่มนักธุรกิจที่พร้อมจะทำงานและเที่ยวไปด้วย (Bleisure) และดิจิทัลนอแมด, กลุ่มดำน้ำและเดินป่า, กลุ่มนักศึกษา ซึ่ง ททท.ให้น้ำหนักกับตลาดจีน เช่น จากกว่างโจว และเฉิงตู, กลุ่ม Boy Lovers เจาะนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่สนใจเดินทางตามกระแสของซีรีส์วายเมืองไทย ซึ่งเป็นซอฟท์เพาเวอร์สำคัญ ขับเคลื่อนการเดินทางของนักท่องเที่ยวตลาดเอเชีย รวมถึงกลุ่มองค์กร และกลุ่มผู้บริหารระดับสูง
“New Area” กลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ ตลาดเป้าหมายคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, มองโกเลีย, เกาหลี (ปูซาน), มาเลเซีย (ซาบาร์ และยะโฮร์), ออสเตรเลีย (บริสเบน และนครแอดิเลด) และพื้นที่ศักยภาพใหม่ในตลาดเดิม
“New Partner” ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ เช่น สายการบิน องค์กร และอื่นๆ ตลาดเป้าหมายคือมาเลเซีย ฮ่องกง มองโกเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
“New Infrastructure” ชูการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว เช่น โครงการในต่างประเทศ รถไฟความเร็วสูง คุนหมิง-ลาว เชื่อมโยงเข้าภาคอีสานตอนเหนือของไทย สามารถดึงนักท่องเที่ยวจีนทางตอนใต้เดินทางเชื่อมโยงมา สปป.ลาว สู่ไทย เมื่อรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศ ส่วนโครงการในประเทศไทย มีโครงข่ายคมนาคมทางบกและทางอากาศใหม่ๆ อาทิ สถานีกลางบางซื่อ, โมโนเรลขอนแก่น, สนามบินเบตง เชื่อมโยงมาเลเซีย, รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย, เส้นทางเดินคลองโอ่งอ่าง, เส้นทางมอเตอร์เวย์โคราช (M6) และมอเตอร์เวย์กาญจนบุรี (M81) เป็นต้น
และ “New Way” สร้างวิถีใหม่แก่ภาคท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ในกลุ่มมิลเลนเนียลส์ คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม