สกพอ.นำร่อง 3 คลัสเตอร์ เศรษฐกิจหมุนเวียน “อีอีซี”
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดกติกาโลกใหม่ที่จะกลายเป็นข้อบังคับและข้อพิจารณาที่สำคัญของการลงทุนในอนาคต ในขณะที่หลายประเทศได้มีการประกาศแผนสิ่งแวดล้อมอย่างอย่างจริงจัง ดังที่ประเทศไทยประกาศจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050
ดังที่ประเทศไทยประกาศจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 รวมทั้งมีการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดล BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยใช้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยและเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องที่จะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น
อังศุธรย์ วสุสัณห์ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และชักชวนนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.ต้องการให้พื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยได้กำหนดเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 10% จากฐานปี 2564 หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
รวมทั้งจะมีการผลักดันให้มีการลงทุนใหม่ 40% ในอุตสาหกรรมที่มีการนำหลักบีซีจีโมเดลมาประกอบการลงทุน โดยกำหนดให้มีการลงทุนครอบคลุมใน 2 มิติ ประกอบด้วย
1.มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน น้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิต ได้แก่ การปรับการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิต โดยให้มีการออกแบบสายการผลิตที่นำระบบดิจิทัลและออโตเมชั่นมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรในการผลิต โดยเพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิลในการผลิต และการออกแบบระบบจัดการของเสียในการผลิตแบบครบวงจร
2.การจัดการทรัพยากรรวมถึงการนำของเสียมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มการลงทุนในกิจการและบริการต้นน้ำ (Solution Provider) ซึ่งจะทำให้ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ในภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีโมเดล
ทั้งนี้ สกพอ.ได้ว่าจ้าง บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่อีอีซี เพื่อกำหนดแนวทางการลงทุนในอนาคตรวมทั้งวางนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ สกพอ.ได้กำหนดไว้โดยเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงกับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
รวมทั้งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 สกพอ. ร่วมกับ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อีอีซี เพื่อนำเสนอแนวทางผลการศึกษาของโครงการและรวบรวมความเห็นของผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งเพื่อใช้ในการกำหนดเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต
นัท วานิชยางกูร Managing Partner บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กล่าวว่า พื้นที่อีอีซีถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่สำหรับการรองรับอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง และมีความพร้อมในการเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการวางนโยบายการลงทุน(Regulatory Sandbox) อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวทางดังกล่าวมีทั้งอุปสรรค ความท้าทาย รวมไปถึงโอกาสทางธุรกิจ
ทั้งนี้ การศึกษามีการแบ่งการวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมออกเป็น 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย
1.กลุ่มอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ได้แก่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร
2.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และดิจิทัล
3.กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ได้แก่ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบินและโลจิสติกส์
สำหรับภาพรวมประเทศไทยมีข้อได้เปรียบและโอกาสในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอเคมิคอล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งทำให้มีวัตถุดิบจากการเกษตรปริมาณมากที่สามารถนำไปต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์หรือยา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องได้
“ขณะนี้ความต้องการที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องการคือความร่วมมือในมิติของเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยของเสียเป็นศูนย์และสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้ อีกส่วนจะเป็นเรื่องซัพพลายเชน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจะไม่สามารถทำแค่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่จะต้องพัฒนาไปถึงซัพพลายเชนตอลดทั้งอีโคซิสเต็ม”
สำหรับการจัดทำแผนผลักดันอุตสาหกรรมภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมี ดังนี้
ประการที่ 1 เริ่มที่การออกแบบที่เพื่อให้อุตสาหกรรมมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิต การใช้วัตถุดิบ เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ให้มีอายุยืนยาวมากที่สุด
ประการที่ 2 คิดแผนธุรกิจใหม่ โดยการจัดลำดับความสำคัญของแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนก่อน โดยมุ่งที่การสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ประการที่ 3 การสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ คู่ค้า ตลอดทั้งซัพพลายเชนในการร่วมกันขับเคลื่อเศรษฐกิจสีเขียว
ประการที่ 4 การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด