วางแผนสวัสดิการอย่างไร? นายจ้าง-ลูกจ้างได้ประโยชน์สูงสุด

วางแผนสวัสดิการอย่างไร? นายจ้าง-ลูกจ้างได้ประโยชน์สูงสุด

นายจ้างต้องรู้! วางแผนสวัสดิการที่ให้กับลูกจ้างอย่างไร ได้ประโยชน์ทางภาษีทั้งสองฝ่าย ให้กิจการและลูกจ้างจะได้รับประโยชน์จากสวัสดิการอย่างเต็มที่ รวมถึงหมดปัญหาเรื่องภาษีกับสรรพากร

บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจทุกประเภท เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีลูกจ้าง กิจการจำเป็นต้องมีสวัสดิการให้กับลูกจ้าง เช่น ประกันสังคม เครื่องแบบพนักงาน วันหยุดประจำปี วันลาป่วย ลากิจ พักร้อน เลี้ยงปีใหม่ประจำปี เงินรางวัลสำหรับลูกจ้างดีเด่น ตลอดจนสวัสดิการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกจ้างและนายจ้าง

เนื่องจากสวัสดิการเหล่านี้มีผลทางด้านภาษีด้วย กล่าวคือ หากสวัสดิการนั้นๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ซึ่งกิจการจะต้องระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของกิจการ โดยระบุไว้ในคู่มือพนักงานและการให้สวัสดิการดังกล่าวเป็นการให้สวัสดิการโดยทั่วไปแก่พนักงานทุกคน

ด้วยเหตุนี้ หากนายจ้างวางแผนสวัสดิการที่ให้กับลูกจ้างไว้เป็นอย่างดี ทั้งกิจการและลูกจ้างจะได้รับประโยชน์จากสวัสดิการอย่างเต็มที่ รวมถึงหมดปัญหาเรื่องภาษีกับสรรพากร ซึ่งสามารถวางแผนสวัสดิการได้อย่างไรบ้าง ต้องติดตามจากบรรทัดต่อจากนี้ไป  

  • สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์สำหรับ “ลูกจ้าง”​

1.ขึ้นทะเบียนประกันสังคม

​เมื่อใดก็ตามที่กิจการเริ่มมีพนักงานที่จ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน ต้องไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม ซึ่งสำหรับกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ก็จะได้ขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคม กระทรวงแรงงานโดยอัตโนมัติ
และต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงานที่สำนักงานประกันสังคม

รวมถึงเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้น ก็ต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงานด้วยเช่นกัน รวมถึงหักเงินสมทบของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าจ้าง เงินเดือน พร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 นำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน โดยไม่ลืมลงรายการบัญชีเงินเดือนไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสวัสดิการความคุ้มครองหลายๆ ด้านจากประกันสังคม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ค่าสงเคราะห์บุตร ค่าว่างงาน อีกทั้งลูกจ้างยังสามารถนำค่าประกันตนที่หักจ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องยื่นภาษีทุกปีได้ด้วย

2.เลือกสวัสดิการที่ไม่ต้องนับรวมเป็นรายได้พนักงาน

ตามหลักการทางภาษี ค่าสวัสดิการที่พนักงานได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ลูกจ้างต้องเสียภาษี ซึ่งมาตรา 39 เงินได้พึงประเมิน “ให้รวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน” โดยพิจารณาได้จากประเภทของเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น นอกจากเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามกฎหมายภาษีอากรที่ได้รับเป็นตัวเงิน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส ยังหมายรวมถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้

แต่มีสวัสดิการบางประเภทของลูกจ้าง ที่กิจการบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานได้ และพนักงานที่ได้รับสวัสดิการนั้นจากกิจการ อาจไม่ต้องรวมเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) เพราะกฎหมายได้มีการกำหนดในส่วนของเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีไว้ จึงทำให้สวัสดิการและประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากทางกิจการไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษี หากเป็นไปตามเงื่อนไข คือ

- เป็นการปฏิบัติให้ลูกจ้างทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อาจแตกต่างกันตามลำดับขั้นของลูกจ้างได้ แต่ต้องไม่แตกต่างกันในระดับขั้นเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิจการไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือให้เป็นการส่วนตัว เพราะจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

- สวัสดิการบางอย่างต้องมีระเบียบปฏิบัติอย่างชัดเจน พนักงานรับรู้โดยทั่วกันทุกคน

- ผลประโยชน์ให้พนักงานบางกรณีต้องมีการทำหนังสือรับรู้ หรือได้รับการอนุมัติจากกรรมการเป็นลายลักษณ์อักษร เอกสารประกอบชัดเจน ถูกต้อง พร้อมทั้งเอกสารบันทึกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงตามที่ได้รับการอนุมัติ
 
3.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

โดยปกติสำหรับลูกจ้างที่มีเงินเดือนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี นายจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือน โดยนายจ้างจะต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกจ้างทั้งปี ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วหรือไม่

หากพบว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ให้แจ้งกับลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างแจ้งสิทธิลดหย่อนที่มีกับนายจ้าง โดยลูกจ้างจะต้องแจ้งสิทธิลดหย่อนที่มีหรือที่ตั้งใจว่าจะซื้อเพิ่มภายในปีนี้เป็นลายลักษณ์อักษรให้นายจ้างทราบ อาจแจ้งเป็นแบบฟอร์มหรือช่องทางอื่นๆ ตามที่นายจ้างกำหนด ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับเงินสดเท่าเดิมทันทีที่จ่ายเงินเดือนครั้งต่อไป

  • ค่าสวัสดิการ-สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับ “นายจ้าง”

1.เลือกค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่ไม่เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

หลักการทางภาษีสำหรับนายจ้าง คือรายจ่ายใดๆ ที่ไม่อยู่ในมาตรา 65 ตรี (1)-(20) มีสิทธิลงเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้ ซึ่งจะช่วยทำให้นายจ้างเสียภาษีน้อยลง แต่สิ่งที่ทางสรรพากรมักตรวจสอบคือการบันทึกรายได้ครบถ้วนหรือไม่ และค่าใช้จ่ายที่กิจการนำมาหักนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ครบถ้วนหรือไม่
 
ทั้งนี้ สวัสดิการที่สรรพากรอนุญาตให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้จะต้องเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้

- กิจการต้องระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของกิจการ โดยระบุไว้ในคู่มือพนักงาน

- การให้สวัสดิการจะต้องให้กับลูกจ้างทุกคนทั่วไปโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ

ตัวอย่างเช่น รายจ่ายที่นายจ้างจ่ายให้พนักงานเป็นเงินรางวัลลูกจ้างดีเด่น จัดงานปีใหม่ เป็นต้น โดยเป็นไปตามเงื่อนไข คือจัดทำเป็นระเบียบข้อบังคับให้กับลูกจ้างทุกคนเป็นการทั่วไป ถือเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

2.เลือกสวัสดิการที่ภาษีซื้อไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม

ค่าสวัสดิการลูกจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในกรณีที่มีการจ่ายค่าสวัสดิการลูกจ้าง เช่น แจกสิ่งของเป็นรางวัลปีใหม่ให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน ภาษีซื้อสิ่งของเหล่านี้จะต้องไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้ 

- กรณีไม่มีใบกำกับภาษี หรือกรณีมีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้

- กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ  

- ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ

- ภาษีซื้อจากรายจ่ายค่ารับรอง

- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
- ภาษีซื้อต้องห้ามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

ดังนั้น เบื้องต้นของการวางแผนสวัสดิการให้กับลูกจ้าง นายจ้างอาจต้องระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของกิจการไว้ในคู่มือพนักงานตั้งแต่ต้น และเลือกหาสวัสดิการในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมถึงภาษีซื้อที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้
เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับประโยชน์ทางภาษีอย่างสูงสุดจากสวัสดิการดังกล่าว รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นให้กับทุกคนในองค์กร ช่วยกันพัฒนาพร้อมขับเคลื่อนกิจการให้ไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ได้ไม่ยาก

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่