สนพ.คาดการใช้พลังงานทั้งปีเพิ่ม 2% เมื่อเทียบกับปี 2564

สนพ.คาดการใช้พลังงานทั้งปีเพิ่ม 2% เมื่อเทียบกับปี 2564

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.ชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นดันยอดใช้พลังงานปีนี้เพิ่ม 2.1% การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 12.9% ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ยังเป็นปัจจัยหลักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน วัฒนพงษ์ คุโรวาท ระบุ สถานการณ์พลังงานไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้น 9.2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นปรับตัวลดลง 0.8% จากการใช้ LNG ที่ลดลงในภาคการผลิตไฟฟ้า 

ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้นปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว คาดว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน โดยการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.9% จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศของไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ยังเป็นปัจจัยหลักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

พลังงานตั้งเป้าดันไทยฮับผลิตรถอีวี

สำหรับการเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 944 แห่งทั่วประเทศ สำหรับยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเมษายน ปี 2565 สะสมรวมทั้งสิ้น 5,614 คัน

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต