10 อันดับ ‘งบฯปี 66’ รัฐจัดรายจ่าย 10 ด้าน ดูแลเศรษฐกิจ-สังคม
พ.ร.บ.งบประมาณฯ2566 กรอบวงเงินงบประมาณรวม 3.185 ล้านล้านบาท ขาดดุล จำนวน 6.95 แสนล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการในวาระที่ 2 – 3
สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการรวบรวมรายละเอียดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยสังเขป โดยมีการให้ข้อมูลในเรื่องของงบประมาณรายจ่าย 10 ข้อ 3 ด้านตามลักษณะงานและลักษณะเศรษฐกิจ โดยสามารถจัดลำดับจากมากไปน้อยได้ ดังนี้
1. การเศรษฐกิจ จำนวน 762,442.4 ล้านบาท หรือ 23.9% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ดิน การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร การพยุง ราคาผลผลิต การส่งเสริมการเกษตร การปศุสัตว์ การควบคุมศัตรูพืช การป่าไม้ การประมง
การสำรวจ การจัดหา พัฒนา และควบคุมทรัพยากรเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานต่าง ๆ การดำเนินงานด้านทรัพยากรธรณี การส่งเสริมการควบคุมอุตสาหกรรม การวิจัยเพื่อการ พัฒนาอุตสาหกรรม การดำเนินงานด้านการโยธา การพาณิชย์ การควบคุมการดำเนินกิจการ
โรงแรมและภัตตาคาร การส่งเสริมการท่องเที่ยว การแรงงาน การดำเนินโครงการอเนกประสงค์ ต่าง ๆ การบริหารและก่อสร้างระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ การสื่อสาร (ซึ่งไม่รวมระบบโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ที่จัดอยู่ในลักษณะงานการศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ) ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการเศรษฐกิจ)
2.การบริหารทั่วไปของรัฐ จำนวน 722,916.5 ล้านบาท หรือ 22.7% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินกิจกรรมขององค์กรนิติบัญญัติ การบริหารการเงิน การคลัง การบริหารงานบุคคลกลาง การจัดทำสถิติ การบริหารงาน ต่างประเทศ การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการบริหารทั่วไปของรัฐ นอกจากนี้ยังรวมถึงการชำระหนี้เงินกู้และเงินโอนให้ท้องถิ่น
3.การศึกษา จำนวน 450,444.9 ล้านบาท หรือ 14.1% ของงบประมาณรายจ่าย ทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา การจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษานอกโรงเรียน การจัดทุน การศึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษางบประมาณจำนวนดังกล่าว รวมถึงเงินอุดหนุน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการด้านการศึกษา
4.การสังคมสงเคราะห์ จำนวน 383,764.5 ล้านบาท หรือ 12.1% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประกันสังคมให้แก่บุคคลผู้สูญเสียรายได้เนื่องจากเจ็บป่วย การให้ประโยชน์ทดแทนแก่บุคคลทั่วไป ลูกจ้างของรัฐกรณีเกษียณอายุ
ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งการสงเคราะห์อื่นเช่น กรณีประสบภัยพิบัติ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านสังคมสงเคราะห์
5.การสาธารณสุข จำนวน 314,942.2 ล้านบาท หรือ 9.9% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุข ทั้งการวางแผน การบริหารการดำเนินงานโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่าง ๆ การวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านการสาธารณสุขและการให้ความรู้และบริการด้านสุขภาพอนามัย
6.การป้องกันประเทศ จำนวน 194,892.1 ล้านบาท หรือ 6.1% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานป้องกันประเทศและการรักษาดินแดนโดยฝ่ายพลเรือน รวมทั้งสมาชิกอาสารักษาดินแดนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
7. การรักษาความสงบภายใน จำนวน 189,591.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 6% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานตลาการ อัยการ ตำรวจ การป้องกัน อัคคีภัย และงานราชทัณฑ์ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการรักษาความสงบภายใน
8. การเคหะและชุมชน จำนวน 139,190.4 ล้านบาท หรือ 4.4% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานจัดหาที่พักอาศัยและการกำหนดมาตรฐาน การวางผังเมือง การพัฒนาชุมชน ตลอดจนการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการวิจัยและการพัฒนาด้านการเคหะและชุมชน
9. การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ จำนวน 16,589.3 ล้านบาท หรือ 0.5% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการกีฬาในส่วนที่เป็นนโยบายนอกเหนือจากการจัดการศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทางด้านวัฒนธรรม การศาสนา ค่าใช้จ่ายในการกระจายเสียงและจัดระบบโทรทัศน์ ตลอดจน การบริหารด้านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ การจัดสร้างสวนสาธารณะหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และสวนพฤกษศาสตร์ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ
10. การสิ่งแวดล้อม จำนวน 10.226.1 ล้านบาท หรือ 0.3% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การแปรสภาพ และการกำจัด การจัดการสิ่งปฏิกูลและน้ำโสโครกในท่อระบายน้ำ ระบบการบำบัดน้ำเสีย การจัดการและการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำ รางน้ำ การป้องกันสิ่งแวดล้อมทางอากาศและภูมิอากาศ การป้องกันพื้นดินและน้ำบริเวณผิวดิน
การลดมลภาวะทางเสียง การป้องกันกัมมันตภาพรังสี การก่อสร้างเขื่อนหรือรั้วกั้นเสียง มาตรการลดมลภาวะทางน้ำ การรักษาระบบนิเวศวิทยาและภูมิทัศน์ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนา ด้านสิ่งแวดล้อม