เปิดเหตุผลแนวโน้มยอดใช้ไฟปี 65 พุ่ง สวนกระแสค่าไฟแพง
“สนพ.” เผยสถานการณ์พลังงานไทยสูงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัว กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ระบุ ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงสุดกว่า 46%
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 จากการใช้ LNG ที่ลดลงในภาคการผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว (ธันวาคม 2564) ครั้งนี้ได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจลงเนื่องจากภาวการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญลดลงและราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ
สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้การใช้พลังงาน คือการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประชาชนปรับพฤติกรรมเข้าสู่ภาวะปกติการเดินทางมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบปี 2562-2565 โดยไตรมาสแรกปี 2565 พบว่า การใช้ไฟฟ้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น 5.9% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่เป็นไปตามกลไกตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นมีการผลิตสินค้าตามจำนวนสินค้าที่ต้องการเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้น โดยแบ่งสัดส่วนเป็นรายภาคที่มีการใช้ไฟฟ้ามาสุด ประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงสุดคือ 46% รองลงมาคือภาคครัวเรือน 27% ภาคธุรกิจ 23% ภาคอื่นๆ 4%
นอกจากนี้ สนพ.ได้การคาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้น ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.034 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของไทยและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลก
ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน โดยการใช้น้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 9.5 เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จึงมีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทน
การใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลได้มีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตามในส่วนของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ได้มีมาตรการตรึงราคาขายปลีกอยู่ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม (เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 15 มิถุนายน 2565) รวมถึงมีมาตรการ “เอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน” คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม
สำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ตามปริมาณน้ำฝนและ น้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว