ทล.เร่ง "บีจีเอสอาร์" ลุยงานติดตั้งระบบมอเตอร์เวย์ เล็งเปิดปลายปีหน้า
กรมทางหลวงเร่ง “บีจีเอสอาร์” ลุยงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย เตรียมเปิดทดสอบระบบปลายปีหน้า ด้าน “บีทีเอส” มั่นใจเดินหน้าตามแผน จัดงบลงทุน 3 ปี กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) โดยระบุว่า ขณะนี้ ทล.ได้ส่งมอบพื้นที่โครงการดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญา คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เริ่มดำเนินงานแล้ว
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานในเบื้องต้น เอกชนได้ลงสำรวจพื้นที่ เริ่มงานออกแบบโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงงานก่อสร้างด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่ง ทล.มีเป้าหมายให้เอกชนดำเนินงานแล้วเสร็จ เพื่อเปิดใช้งานทดสอบระบบในช่วงปลายปี 2566 หลังจากนั้นมีกำหนดเริ่มจัดเก็บค่าผ่านทางในปี 2567 ทำให้ภาพรวมขณะนี้แม้ว่า ทล.จะส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไปบ้าง แต่ได้ประสานร่วมกับเอกชนคู่สัญญาให้สามารถเร่งรัดดำเนินงานก่อสร้างและติดตั้งระบบ เพื่อเปิดให้บริการได้ตามแผน
ในส่วนของการดำเนินงาน ขณะนี้เอกชนจะต้องเร่งรัด 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การก่อสร้างอาคารด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง 2.การติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งจะต้องติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M – Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม 3.วางระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง รวมไปถึงอาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ และ 4.ติดตั้งระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ และ CCTV เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวเปิดเส้นทางให้บริการจัดเก็บค่าผ่านทางอย่างเป็นทางการแล้ว ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะต้องทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทาง และนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่ ทล. โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา ซึ่งจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้
อีกทั้งกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะต้องเป็นผู้บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนดูแลซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยการร่วมลงทุนโครงการนี้ จัดทำในรูปแบบ PPP Gross Cost นับเป็นโครงการแรกในรอบ 20 ปีที่มีการดำเนินโครงการร่วมลงทุนกับการพัฒนาและบริหารจัดการระบบมอเตอร์เวย์
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ได้เข้าไปเริ่มดำเนินงาน O&M ทั้งในส่วนของมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา และบางใหญ่ - กาญจนบุรีแล้ว เบื้องต้นยังมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ เพื่อเปิดให้บริการได้ตามแผน
อย่างไรก็ดี กิจการร่วมค้า BGSR ยังประเมินว่าในช่วงของการก่อสร้าง 3 ปีแรกนั้น จะใช้วงเงินลงทุนอยู่ที่ 17,000 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธาประมาณ 7,000 ล้านบาท และระบบ O&M ประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ยังประเมินว่าตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะรับรู้รายได้รวม 2 โครงการราว 38,000 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา วงเงิน 21,000 หมื่นล้านบาท และรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 17,000 หมื่นล้านบาท
สำหรับกลุ่มกิจการค้า BGSR ได้จัดตั้ง 2 บริษัทดูแลการดำเนินการมอเตอร์เวย์ 2 สาย ได้แก่ บริษัท บีจีเอสอาร์ 6 จำกัด (BGSR 6) และบริษัท บีจีเอสอาร์ 81 จำกัด (BGSR 81) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนทั้งสองบริษัทมีสัดส่วนการร่วมทุน BTS 40%, GULF 40%, STEC 10% และ RATCH 10% ได้เข้าลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) กับ ทล.ในโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 สายบางปะอิน- นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร และมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร