เส้นทางอายุน้อยร้อยล้าน ‘ซารต์-กานต์’ บนถนนธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
การเป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารธุรกิจ มีชื่อติดทำเนียบ “อายุน้อยร้อยล้าน” เป็นหนึ่งในความฝันของคนรุ่นใหม่ หากดูรายชื่อทำเนียบคนเก่ง และทำเงินตั้งแต่วัยกระเตาะ กลายเป็นเศรษฐีแถวหน้าของเมืองไทย มีมากหน้าหลายตา
ย้อนยุคดังมาก ต้องยกให้ “ต๊อบ อิทธิพัทธ์” ผู้ปลุกปั้นสแน็กสาหร่ายทอดแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้านไปแล้ว หรือ “เมย์ กุลพัชร์” ร้านขนมหวานเคยทำเงินถึงพันล้านบาทอย่าง “อาฟเตอร์ยู” หรือแม้กระทั่ง “เมซซี่เจ ชนาธิป” ที่ทำธุรกิจร้านกาแฟมิกก้า(ในเครืออาฟเตอร์ ยู) เพื่อรองรับการค้าแข้งที่ต้องมีวันโบกมีลา
คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างดี และทำเนียบเศรษฐีรุ่นใหม่ยังมีอีกมาก แต่ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนเจาะเส้นทางของ 2 ผู้บริหารหนุ่มสาวไฟแรงอีกคู่ ผู้ปลุกปั้นร้านชานมไข่มุก “BEARHOUSE” เคยสร้างปรากฏการณ์แฟนคลับ ลูกค้าเข้าคิวรอซื้อชานมไข่มุกยาวเฟื้อยมาแล้ว
ทว่าเส้นทางการเติบโตเป็นนักธุรกิจหนุ่มสาวอายุน้อยร้อยล้าน กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และมีบทเรียน “เจ็บปวด” จากการเจ๊ง! มาแล้วเช่นกัน
ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช (ซารต์) ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด เจ้าของร้านชานมไข่มุก “BEARHOUSE” และ อรรถกร รัตนารมย์ (กานต์) ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด ทั้งคู่ต่างคือคนดังบนโลกออนไลน์ อย่าง Yotuber ปั้นช่อง Bearhug ปี 2561 ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 3.77 ล้านราย เคยสร้างรายได้สูงสุดเกือบ 30 ล้านบาท ปัจจุบันรายได้อยู่ที่ 13-14 ล้านบาท
เม็ดเงินที่ลดลง เพราะทั้งคู่พลิกบทบาทจากคอนเทนท์ครีเอเตอร์ มาเป็นผู้บริหาร เทสรรพกำลังกาย-ใจ ปั้นร้านชานมไข่มุก “BEARHOUSE” สาขาแรกที่สยามสแควร์เมื่อ 3 ปีก่อน ทำรายได้ถึง 15 ล้านบาท กำไรออกตัว 6 แสนบาทในช่วง 6 เดือน
ความสำเร็จมาพร้อม “ขุมทรัพย์การตลาด” เมื่อชานมไข่มุกมูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาท ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากหน่วยงาน และตลาดโลกโฟกัสให้ “ชานมไข่มุก” กลายเป็นเครื่องดื่มหลักเทียบชั้น “กาแฟ” ส่วนมูลค่าทยอยเติบโตจากหลัก 70,000 ล้านบาท จะพุ่งแตะ 1.5 แสนล้านบาทในอนาคต เนื่องจากชาจีน ชาอังกฤษที่ดื่มร้อนในอดีต ถูกพัฒนาไปเสิร์ฟในแพลตฟอร์มต่างๆมกาขึ้น
หากกาแฟ เปรียบเสมือนเครื่องดื่มของสุภาพบุรุษ ชานมไข่มุก จึงถูกยกเป็นของคู่กับ “กลุ่มสาวๆ” เสียส่วนใหญ่
ย้อนถึงวันเปิดธุรกิจร้านชานมไข่มุก เพราะ “ซารต์-กานต์” มีความหลงใหลกับเครื่องดื่มดังกล่าวขั้นสุด ถึงขั้นบินไปไต้หวันบ่อยๆ เพื่อตระเวนลิ้มลองเมนูเด็ด รสชาติยอดฮอตจนทำให้ “ฟันผุ” กันมาแล้ว
ยิ่งกว่านั้นคือการแปรความชอบ(Passion)สู่การทำธุรกิจ พยายามติดต่อเป็นแฟรนไชส์จากพันธมิตรที่ไต้หวันแต่ไม่ลงตัว จึงต้องลุยสร้างกิจการและแบรนด์ “BEARHOUSE” เอง
“อาชีพแรกคือยูทูปเบอร์ สายกินสายเที่ยว แต่วันหนึ่งอยากเปิดร้านชานม อยากซื้อแฟรนไชส์ไต้หวัน แต่ซื้อไม่ได้เลยเก็บความอยากไว้ จน 3 ปีก่อนเกิดช็อปแรก” ซารต์ เล่า
“เราเปิดสาขาแรกได้ครึ่งปีทำยอดขาย 15 ล้านบาท เปิดร้านชานมไข่มุกมาเจอวิกฤติโควิด แต่โชคดีที่เราเข้าตลาดตอนที่เติบโตหรือพีค จึงมีเงินสดเหลือทำธุรกิจ คนอื่นปิดร้านหมด เราโตสวนกระแส เพราะมีการปรับตัวทำเดลิเวอรี่” กานต์ กล่าวเสริม
จากวันแรกที่เติบโต แต่เส้นทางไม่ง่าย เพราะระหว่างลุยร้านชานมไข่มุก จึงต้องการแตกไลน์ทำชานมกระป๋อง จนขาดทุนยับ! เป็นบทเรียนเจ็บปวดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ประสบการณ์ยังน้อยเกินไป
“ชานมกระป๋องที่เจ๊งไป มันเป็นอดีตแล้ว” แต่ทั้งคู่ไม่ลดละการ “แตกไลน์” ขยายธุรกิจกระจายเสี่ยงให้มากขึ้น เพราะล่าสุดพัฒนา “ซันซุเยลลี่บุก” จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อด้วย
ทว่า การให้น้ำหนักธุรกิจยังเป็น “BEARHOUSE” เพราะทั้งคู่มีเป้าหมายใหญ่ คือการบุกตลาด “ต่างประเทศ” แต่อุปสรรคนาทีนี้ยังเป็น “การเงิน” ทำให้ภารกิจรองคือการขยายธุรกิจสร้างการเติบโตเพื่อมีขนาดพอที่จะ “เข้าตลาดหลักทรัพย์” ระดมทุนต่อไป
“ในวันหนึ่งเราอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะอยากเปิดสาขาต่างประเทศด้วย อยากทำเครืองดื่มหลากหลายมากขึ้น จึงพยายามพัฒนาสินค้าหมวดอื่นเพิ่ม มากกว่าเน้นออกสินค้าใหม่(NPD)”
สินค้าใหม่ ที่ออกมาล่าสุด คือการฟังเสียงลูกค้าที่โปรดปรานชานมไข่มุก แต่ไม่อยากรู้สึกผิด นอกจากสั่งหวาน 25-50% แล้ว ร้านต้องเพิ่มทางเลือกลูกค้า ด้วยการใช้เวลา 6 เดือนพัฒนาไซรัปปราศจากน้ำตาล(Sugar free) หาทางแก้ Pain point สารให้ความหวานที่มักจะมีรสชาติ “ติดปลายลิ้น” หรือเติมแล้วไม่อร่อย ซึ่ง “กานต์” การันตีว่าไซรัปตัวใหม่ไม่ทำให้รสชาติชานมไข่มุกเพี้ยนจากต้นตำรับแน่นอน
ขณะที่แผนธุรกิจ 2 ปี เพื่อเตรียมตัวเข้าตลาด คือการเปิดร้าน “BEARHOUSE” ให้แตะ 40 สาขา จากปัจจุบัน 12 สาขา สิ้นปีนี้จะมี 20 สาขา และปี 2566 จะเห็นการคิกออฟสาขาต่างจังหวัดแถบ “ภาคอิสาน” ด้วย
เพื่อให้มีสาขาตามเป้า บริษัทวางงบลงทุนคร่าว 36 ล้านบาท ใน 2 ปี เพราะที่ผ่านมาการเปิดสาขาใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 2.5-4 ล้านบาท โดยสาขาที่จะเปิดในปี 2565 เป็นการใช้กระแสเงินสด และขอสินเชื่อธนาคารสัดส่วน 50% เท่ากัน
อีกภารกิจที่ต้องกลับมาทำเชิงรุก คือการวางระบบหลังบ้านให้แข็งแกร่ง ประเดิมทำบัญชี งบการเงินให้พร้อม วางระบบ ERP มาช่วย เป็นต้น
“การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแผนระยะยาว 4-5 ปี ตอนนี้ต้องวางระบบหลังบ้านให้แกร่ง หากเรียบร้อย แผนอาจเร็วขึ้น ซึ่งเป้าหมายเราต้องการเงินลงทุนไปเปิดสาขาในต่างประเทศ เราตั้งเป้าทุกวัน ค่อยๆเตรียมการ ทำทีละระบบ”
การโกอินเตอร์ “ซารต์-กานต์” มองตลาดเป้าหมายต่างกัน โดย “ซารต์” มองเอเชียเป็นหลัก ขณะที่ “กานต์” มองไกลยุโรป สหรัฐฯ แต่หากมองวิวัฒนาการตลาดจะเห็นว่า “ชานมไข่มุกแดนมังกร” หรือพี่จีน ไปไกลมาก เพราะทั้งท้อปปิ้ง ความหลากหลายชานมมีให้เลือกสารพัด
เมื่อความฝันใหญ่ พาบริษัทเข้าตลาด แล้วเติบโตในต่างประเทศ ทำให้ปัจจุบัน “ซารต์-กานต์” ให้เวลา 80% กับบทบาทนักธุรกิจ ทุ่มเทกับ Yotuber 20% เท่านั้น แต่จากนี้ไปจะปรับตารางชีวิตใหม่ เพื่อทำ work life balance เพราะการเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์สำหรับพวกเขาเปรียบเสมือน “วิตามินความสุขในชีวิต”
“ตอนนี้ต้องปรับตัวจัดเวลาใหม่ เพราะสื่อยังมีความสำคัญ และการเป็นยูทูปเบอร์เหมือนวิตามินความสุขของเรา กินแล้วดีต่อร่างกายไม่ป่วย แต่ก็ต้องพัฒนาตัวเองในการเป็นผู้บริหาร ทำธุรกิจให้มั่นคงก่อน”
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจมั่นคงด่านแรก คือการผลักดันรายได้แตะ 500 ล้านบาท เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนปีนี้เป้ารายได้อยู่ที่ 180 ล้านบาท กำไร 15% จากปี 2564 รายได้ 117 ล้านบาท
"การเป็นผู้บริหารอายุน้อยร้อยล้าน เมื่อได้สัมภาษณ์ อ่านรีซูเม่ผู้สมัครงาน และเจอผู้บริหารอายุมาก..ก็มองตัวเองโชคดีที่อายุน้อย เหมือนไม่มีข้อจำกัดครอบครัว ภาระ และเรายังฟิตเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ และเราเป็นเด็กอีโก้น้อย" กานต์ บอกบทบาท
"ซารต์มองข้อจำกัดของผู้บริหารอายุน้อยคือประสบการ์เราน้อยเกินไป ทำให้บางครั้งเจอคนเก่งมาทำงาน บางเรื่องเรารู้น้อยกว่าเขา อาจรู้ได้ไม่ครอบคลุมทุกแง่มุม" ซารต์ทิ้งท้ายอย่างถ่อมตัว