ลงทุน "ขุดคริปโทฯ" ทำอย่างไร ขุดตอนนี้ทันไหม ต้องเสีย "ภาษีคริปโทฯ" อย่างไร

ลงทุน "ขุดคริปโทฯ" ทำอย่างไร ขุดตอนนี้ทันไหม ต้องเสีย "ภาษีคริปโทฯ" อย่างไร

"สายขุด" ต้องรู้ อยากทำเหมืองขุดคริปโทเคอร์เรนซี เขาทำกันอย่างไร ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วต้องเสียภาษีแบบไหน คำนวณภาษีคริปโทฯ จ่ายภาษีคริปโทฯ อย่างไร เปิดวิธีการคำนวณภาษีการขุดคริปโทฯ ครบที่นี่

แม้ว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) จะมีความผันผวนสูงและรวดเร็วจนนักเทรดต้องจับจ้องห้ามคลาดสายตา เรียกว่าแทบลืมหายใจกันเลยทีเดียว แต่หลายคนก็ยังคงมีความหวังว่าจะทำกำไรจากการครอบครองสกุลเงินคริปโทฯ เช่น Bitcoin (BTC) , Ethereum (ETH) และสกุลเงินอื่นๆ รวมถึงผันตัวเองมาเป็นนักขุดคริปโทฯ (Cryptocurrency Miner) อีกด้วย

แต่การขุดคริปโทฯ ณ ปัจจุบันที่มีบริษัทขุดเหมืองคริปโทฯ อยู่จำนวนไม่น้อย บวกกับราคาเหรียญที่มีความผันผวนสูง กำไรจากการขุดคริปโทฯ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาเพราะการลงทุนในเครื่องขุดค่อนข้างสูง ตลอดจนมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการขุดคริปโทฯ ต้องเสียภาษีด้วยเมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทฯ ที่ขุดมาได้

ดังนั้น มือใหม่หัดขุดคริปโทฯ ยังควรทำอยู่ไหม และจะคุ้มค่ากับภาษีที่ต้องเสียหรือไม่ หาคำตอบได้ที่นี่...

  • หลักการขุดคริปโทฯ เบื้องต้น

การขุดคริปโทเคอร์เรนซี หรือการขุดสินทรัพย์ดิจิทัลกลุ่มคริปโทฯ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีการขุดสินทรัพย์ดิจิทัลกลุ่มโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ในโลกของการขุดคริปโทฯ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจะให้ความสนใจขุดสกุลเงิน Bitcoin (BTC) และ Ethereum (ETH) มากที่สุด

ทั้งนี้ การขุดคริปโทฯ คือการประมวลผลธุรกรรมในบล็อกเชน (Blockchain) ด้วยกระบวนการต่างๆ โดยผู้ที่ยืนยันธุรกรรมเหล่านี้ก็คือ นักขุด (Miner) ซึ่งแบ่งกระบวนการได้ดังนี้

1. Proof-of-Work (PoW) เป็นระบบที่คริปโทฯ รุ่นเก่าใช้ เช่น Bitcoin หรือ Ethereum ระบบนี้ต้องเกิดการลงแรงและพลังงานเพื่อให้ได้เหรียญคริปโทฯใหม่ในระบบ

2. Poof-of-Skake (PoS) เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อปิดช่องโหว่ของ PoW โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขของผู้รับรองธุรกรรม (Validator) อย่างเช่นต้องมีเงินฝากขั้นต่ำในสกุลเงินดิจิทัลที่ต้องการขุด ซึ่งถ้ามีเงินคริปโทมากก็จะมีอำนาจในการขุดมาก โดยสกุลเงินคริปโทที่ใช้ PoS ส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดิจิทัลใหม่ เช่น Cosmos (ATOM) , Cardano (ADA) , Polkadot (DOT) , Solana (SOL) , VeChain (VET) , Tezos (XTZ)

แต่เนื่องจากการขุดคริปโทฯ ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงิน Bitcoin , Ethereum หรือสกุลเงินอื่นๆ ล้วนต้องลงทุนสูงทั้งสิ้น รวมถึงความผันผวนของเหรียญคริปโทฯ ก็สูงมากเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่อยากลงทุนขุดคริปโทฯ จำเป็นต้องมีสายป่านในการลงทุนที่ยาว เนื่องจากผลตอบแทนมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง

ในบางครั้งที่ตลาดคริปโทฯ เป็นช่วงขาลง นักลงทุนสายขุดคริปโทฯ ก็ยังสามารถนำอุปกรณ์การขุดไปใช้ประโยชน์สร้างรายได้ทางอื่นได้ รอจังหวะช่วงขาขึ้นของตลาดคริปโทฯ ก็นำอุปกรณ์ที่พร้อมขุดอยู่แล้ว สามารถเปิดเครื่องขุดต่อได้ทันที

  •  หลักในการเลือกอุปกรณ์ขุดคริปโทฯ 

ปัจจุบันการขุดคริปโทฯ ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนที่ใช้เพียง CPU เครื่องเดียวก็ได้แล้ว แต่ทุกวันนี้อาจต้องใช้ GPU หลายสิบตัวในการขุด ซึ่งสามารถแบ่งอุปกรณ์การขุดคริปโทฯ ได้เป็น 3 ประเภท เหมาะกับการขุดที่ต่างกันดังนี้

1. CPU เป็นอุปกรณ์การขุดคริปโทฯ ที่เก่าแก่มีการใช้มานานในช่วงที่การแข่งขันยังไม่สูง แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้แล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพในการขุดสู้อุปกรณ์แบบอื่นไม่ได้ แต่ก็มีสกุลเงินอย่างเช่น Monero (XMR) ที่ต่อต้านอุปกรณ์การขุดคริปโทฯ พลังประมวลผลสูง ทำให้นักขุดต้นทุนน้อยมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น

2. GPU (Graphics Processing Unit) หรือการ์ดจอ เป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนในคอมพิวเตอร์ มีความสามารถในการขุดคริปโทฯ มากกว่า CPU

3. ASIC ถือว่าเป็นเจ้าแห่งการขุดคริปโทฯ เป็นเครื่องขุดเฉพาะทางที่เหมาะขุดบางเหรียญ อย่างเช่นนิยมใช้ขุด Bitcoin

  • จำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทฯ ต้องเสียภาษี

การเสียภาษีคริปโทฯ หรือโทเคนฯ ตามกฎหมายได้กำหนดว่า เมื่อนักขุดคริปโทฯ เริ่มได้รับค่าตอบแทนจากการขุดเป็นเงินคริปโทฯ จะยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน กระทั่งเมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทฯ ที่ขุดมาได้ จึงจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้ขุดต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุนไว้ เช่น ค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี เป็นต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน เช่น คอมพิวเตอร์ โดยทยอยหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ซึ่งทั่วไปมักหัก 20% ต่อปีภาษี

นอกจากนี้ถ้าหากนักขุดขายคริปโทฯ ได้ และ "มีกำไร" จะถือเป็นรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฌ) ต้องมีหน้าที่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ด้วย

  • วิธีคำนวณต้นทุนคริปโทฯ เพื่อหากำไรเสียภาษีคริปโทฯ

การคำนวณต้นทุนคริปโทฯ ประเภทเดียวกัน ให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรอง เช่น วิธีเข้าก่อน ออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving average cost) และให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ดังนี้

- วิธีเข้าก่อนออกก่อน The first-in first-out (FIFO) คือ การคำนวณต้นทุนคริปโทฯ ที่ได้รับจากการขุดก่อนจะขายออกไปก่อนตามลำดับ จึงเป็นผลให้รายการคริปโทฯ ที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายเป็นคริปโทฯ ที่ได้รับจากการขุดมาครั้งหลังสุด

- วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ The moving average cost คือ การคำนวณต้นทุนคริปโทฯ แต่ละประเภทจะกำหนดจากการถัวเฉลี่ยต้นทุนของคริปโทฯ ประเภทเดียวกัน ณ วันต้นปี กับต้นทุนของคริปโทฯ ที่ได้รับจากการขุดในระหว่างปี

โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกวิธีคำนวณต้นทุนใดก็ได้ เมื่อเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้ว ต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

การวัดมูลค่าคริปโทฯ ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมิน 40-(8) รวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป ให้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างภาษีที่คำนวณด้วยวิธีเงินได้สุทธิคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน

  • ยื่นภาษีการขุดคริปโทฯ อย่างไร

รายได้จากการขุดคริปโทฯ ถือเป็นรายได้สำหรับ "อาชีพอิสระ" เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) โดยผู้ได้รับต้องนำมูลค่าของคริปโทฯ ณ วันที่ได้รับ ไปยื่นภาษีประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 และถ้าหากได้รับคริปโทฯ ในครึ่งปีแรก ต้องนำมายื่นภาษีครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย

กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 (ผ่านอินเทอร์เน็ต) ให้แสดงรายได้จากการขายคริปโทฯ ที่ขุดได้ในรายการรายได้จากทรัพย์สิน การทำธุรกิจ ประเภทเงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง และเงินได้อื่น ๆ (มาตรา 40(8) ช่องประเภทธุรกิจ : เงินได้อื่นๆ และใส่ข้อมูลในช่อง โปรดระบุ : รายได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ขุดได้

ส่วนกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 แบบกระดาษ ให้แสดงรายได้จากการขายคริปโทฯ ที่ขุดได้ในช่องเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ประเภทอื่นๆ

สรุป

ดังนั้น หากใครอยากเข้าสู่วงการนักขุดคริปโทฯ ควรมีความรู้เรื่องสกุลเงินที่ตนเองต้องการขุด และเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะกับเหรียญนั้นๆ รวมถึงคำนวณภาษีที่ต้องเสียด้วยว่าจะคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่ ทั้งค่าอุปกรณ์และค่าไฟ เป็นต้น

หากมีวิธีประหยัดไฟฟ้าได้ หาอุปกรณ์ที่เหมาะกับเหรียญที่ขุด มีประสิทธิภาพในการขุดสูง ผลประกอบการที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจ ภาษีที่ต้องเสียอาจกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยก็ว่าได้ แค่ทำหน้าที่ของตนเองให้ดี ยื่นภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีย้อนหลัง

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่