นักวิชาการแนะตั้งทีมไทยแลนด์ดันซอฟต์เพาเวอร์

นักวิชาการแนะตั้งทีมไทยแลนด์ดันซอฟต์เพาเวอร์

นายสิขเรศ ศิรากานต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า การผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้สู่เวทีโลกได้ หน่วยงานภาครัฐต้องวางยุทธศาสตร์ประเทศจริงจังเป็นขั้นตอนเพื่อสร้างความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากถอดบทเรียนความสำเร็จการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของเกาหลีใต้ถูกเตรียมการตั้งแต่ปี 2523 จากการส่งเพลง “อารีดัง” ให้เกิดการรับรู้ เข้าสู่ยุคนำเสนออาหารกิมจิผ่านซีรีส์ “แดจังกึม” วิวัฒนาการล่าสุด คือ การปั้นศิลปินเค-ป๊อป ทั้งบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป เช่น วงบีทีเอส แบล็กพิงก์ ครองโลก ล่าสุดวงบีทีเอส ได้พบ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อหารือประเด็นการเหยียดชาวเอเชีย

สำหรับไทย ยุทธศาสตร์ 5F ซอฟต์เพาเวอร์ ขับเคลื่อนพร้อมกันได้เหมือนดาว 5 แฉก ไม่ต้องมีเรื่องใดเป็นวาระเร่งด่วน เช่น ส่งเสริมภาพยนตร์ ซีรีส์ พร้อมกับอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  หรือ รามยอน กิมจิ จนโด่งดังทั่วโลก

ขณะที่ซอฟต์เพาเวอร์ทั้ง 5F ของไทย เวทีโลกมีการรับรู้ เช่น อาหารเมนูติดอันดับในนิตยสารไทม์ (TIME) มิชลินไกด์ ศิลปะการต่อสู้มวยไทยรู้จักผ่านภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง องก์บาก

ประการสำคัญ คือ หน่วยงานรัฐ เอกชนและทุกภาคส่วนควรหารือรวมพลังสร้าง “ทีมไทยแลนด์” บูรณาการด้านการทำงาน โดยเฉพาะการออกไปทำตลาดในเวทีโลก เช่น รัฐจะสนับสนุนเอกชนอย่างไร หรือค่ายหนังลงนามความร่วมมือ (MOU) ทำงานเฉพาะกิจ แต่ปัจจุบันอุปสรรค คือ บางส่วนยังกระจายแยกกันทำงาน

“อุปสรรคขณะนี้ คือการกระจายกันทำงาน มุมหนึ่งเป็นสิ่งดี แต่บางครั้งต้องมีเป้าหมายร่วม สร้างทีมอเวนเจอร์ ร่วมมือสร้างพลังในการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งเราส่งเสริมทั้งอาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ การต่อสู้มวยไทย เทศกาลไปพร้อมกันได้ แต่ละอย่างมีจุดขายที่งดงามอยู่แล้ว อาจนำเสนอลูกชิ้นยืนกินผ่านหนัง เหมือนศิลปินแรปเปอร์มิลลิผสมผสานข้าวเหนียวมะม่วงกับความบันเทิง คนทั่วโลกรู้จักบัวขาว ต่อยอดสร้างการรับรู้มวยไทยได้"

การเสริมแกร่งซอฟต์เพาเวอร์ไทยเสิร์ฟประชากรโลก อีกสิ่งสำคัญคือการวิจัยตลาด เพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ใช้เพียงความรู้สึก หรือนโยบายด้านการเมืองเท่านั้น

“ไทยยังขาดรีเสิร์ชเบส เน้นแค่อีโมชั่นนอล และการเมืองเป็นพื้นฐาน ซึ่งการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ เช่น จากภาพยนตร์ เรามองบท ถ่ายทำดี ถูกรสนิยมไทย แต่ไปฉายเมืองนอกไม่เปรี้ยงจึงไม่ควรมองกระบวนการผลิต แต่ดัดแปลงให้เข้ารสนิยมตลาดโลก เพราะบางเรื่องมีสุนทรีย์มุมมองต่างกัน หัวใจเราเป็นไทยแต่ต้องมีสายตาเป็นสากล เพราะเราอยู่กับประชากรโลก 7,400 ล้านคน ไม่ใช่แค่ 70 ล้านคนในไทย”

ทั้งนี้ การส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ไทยควรบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เพื่อดำเนินการต่อเนื่อง และมีการวัดผลลัพธ์อย่างชัดเจน ปัจจุบันคนไทยรับรู้การสร้างซอฟต์เพาเวอร์ในตลาดโลกมากขึ้น ผ่านหลายกิจกรรม เช่น การประกวดนางงามเวทีมีการนำเสนอชุดประจำชาติจนชนะใจชาวโลก หรือประเด็นให้ถูกถึงพูดถึงวงกว้าง อย่าง ศิลปะมวยไทยผ่านหนังต้มยำกุ้ง องก์บาก การโปรโมทประเทศผ่านงานเวิลด์เอ็กซ์โป 

“หากซอฟต์เพาเวอร์ไทยเห็นผล เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นมาก แต่การทำสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางลัด อย่างเกาหลีกว่าจะสำเร็จ มีการวางยุทธศาตร์และดำเนินการมานานนับสิบปี”
รวมพลังทุกภาคแข่งทุกมิติที่ได้เปรียบ