ฟื้นท่องเที่ยวไทยสู่ Better Thailand ชู "ยุทธศาสตร์รอยยิ้ม" เพิ่มขีดแข่งขัน
วานนี้ (6 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดสัมมนา กำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย (Thailand Tourism Congress 2022 : TTC 2022) วันที่ 6-8 มิ.ย. พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์การยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพที่ยั่งยืน”
ที่โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนและสมดุล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “โควิด-19” นับเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติในยุคสมัยแห่ง “VUCA World” หรือโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน ผันผวน ท้าทาย และซับซ้อนในทุกรูปแบบ! ภาคท่องเที่ยวไทยต้องออกแบบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับ VUCA World มีสมมติฐานและแผนงานรองรับ พร้อมใช้ข้อมูลทันสมัยและเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อน
“ภาคท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่เปราะบาง อ่อนไหว ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับการแข่งขันสูง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อาศัยของดีที่ประเทศไทยมี เช่น ซอฟต์เพาเวอร์ 5F ได้แก่ Food อาหาร Film ภาพยนตร์ Fashion แฟชั่น Fighting ศิลปะการต่อสู้ และ Festival งานเทศกาล ร่วมกับ S สำคัญซึ่งมาจากคำว่า Smiles ที่แปลว่า รอยยิ้ม”
“ยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม” (SMILES) จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่อยากจะเพิ่มเข้าไปเพื่อทำให้ “ภาคท่องเที่ยว” กลับมาเป็น “พระเอก” ของเศรษฐกิจไทย! โดยไม่ต้องลงทุนมากนัก ด้วยการให้ความสำคัญแก่ 6 มิติ ประกอบด้วย
S: Sustainability สร้างความยั่งยืนแก่ภาคท่องเที่ยว
M: Manpower บุคลากรด้านการท่องเที่ยว
I: Inclusive สร้างเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมจากทุกคน ผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงภาคการท่องเที่ยว
L: Localization สร้างอัตลักษณ์แก่แต่ละพื้นที่ สร้างสตอรี่ให้ร้อยเรียงกัน พร้อมเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นๆ
E: Ecosystem ให้ความสำคัญแก่ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธรรมชาติ และธุรกิจ รวมถึงการลดเงื่อนไขขั้นตอนด้านกฎหมาย เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวไทยมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
S: Social Innovation ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสังคม สอดคล้องกับระบบและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และนำรายได้หมุนกลับมาสู่ภาคท่องเที่ยวไทย
หลังจากรัฐบาลได้ผลักดัน “การเปิดประเทศ” นำร่องด้วยโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ คิกออฟเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564 ซึ่งในสถานการณ์ตอนนั้นนับเป็นการตัดสินใจครั้งที่ยากที่สุด แต่ก็เดินหน้าสำเร็จจนเป็นตัวอย่างของทั่วโลก เห็นรอยยิ้มของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว ต่อยอดสู่การผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง มีการเริ่มใช้ระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) และรับนักท่องเที่ยวระบบ Test & Go เริ่มเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 กระทั่งยกเลิกระบบ Test & Go เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา
“ทั้งนี้รอรับผลสรุปจากงานสัมมนากำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย (TTC 2022) ตลอด 3 วันนี้ (6-8 มิ.ย.) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ภาคท่องเที่ยวไทย สู่ “Better Thailand” เห็นภาพการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สามารถดึงผู้มีรายได้สูงมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น จากจุดขายต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ เชิงกีฬา และอื่นๆ เพื่อทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็น “ประวัติศาสตร์” ของนักท่องเที่ยวทุกคน”
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่า สมาคมฯได้นำเสนอ 6 เรื่องหลักเพื่อยกระดับภาคท่องเที่ยวไทย ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยพัฒนาภาคท่องเที่ยว 3.การเปิดโอกาสให้ภาคท่องเที่ยวเข้าถึงทุกคนแบบครอบคลุมมากขึ้น อาทิ การช่วยให้ผู้พิการท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น และดึงผู้พิการเข้ามามีบทบาทในภาคท่องเที่ยวมากขึ้น 4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ 5.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และ 6.กิโยตินกฎหมาย ด้วยการพิจารณาว่ามีกฎหมายเรื่องอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อภาคท่องเที่ยว โดยใช้รายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นหลักในการพิจารณา
“เวทีสัมมนา TTC 2022 ไม่ได้มองเฉพาะภาคท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่เป็นการหารือร่วมกันเรื่องอนาคตของภาคท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก รวมถึงปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นเพื่อหาทางแก้ไข เช่น ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง (Over Tourism) ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่ภาคท่องเที่ยวไม่อยากกลับไปเจออีก รวมถึงประเด็นที่เป็นภาพลบอื่นๆ และการปรับแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการท่องเที่ยว”
อย่างเช่น การกรอกใบ ตม.6 เมื่อเข้าประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องกรอกข้อมูลอยู่ หากอ้างอิงงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่าการกรอกใบ ตม.6 ไม่ได้มีความสำคัญอีกแล้ว เพราะข้อมูลทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบออนไลน์ จึงไม่มีผลต่อความมั่นคง ทั้งนี้การยกเลิกกรอกใบ ตม.6 จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้กว่า 560 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย นอกจากนี้จะเสนอให้ปรับโครงสร้าง พรบ.โรงแรม เนื่องจากปัจจุบันโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
“เมื่อเสร็จสิ้นการสัมมนาและระดมสมองจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในงาน TTC 2022 จะมีการจัดทำผลสรุปเป็นสมุดปกขาว (ไวท์เปเปอร์) เสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืน (Thailand Tourism Stepping Stone) ยึดจากคุณค่า 3P ได้แก่ People Planet และ Profit”
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การพลิกโฉมภาคท่องเที่ยวไทยตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ “ก้าวกระโดด” (JUMP) เพื่อฟื้นฟูรายได้ภาคท่องเที่ยวไทยกลับคืนสู่จุดที่เคยครองสัดส่วน 18% ของจีดีพีประเทศให้ได้อีกครั้ง! ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด
โดยจากสถิติช่วง 5 เดือนแรก ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 พ.ค.2565 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวอยู่ที่จำนวน 1.3 ล้านคน เพิ่มจากปี 2564 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 4 แสนคน ขณะที่ปี 2563 มีจำนวน 6.7 ล้านคน
ผ่านการผลักดันให้สินค้าท่องเที่ยวและบริการของไทยสามารถสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความหมาย (Meaningful Journey) และสามารถปลดเปลื้องพันธนาการ นำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า (Creativity Unleashed) ด้วยการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ 5F เป็นตัวขับเคลื่อน
ด้านแนวทางสร้าง “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” สอดรับกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล ททท.สนับสนุนแนวทาง “5 ลด” ได้แก่ 1.ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 2.ลดของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) 3.ลดการใช้สิ่งของหรือไอเทมที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 4.ลดการใช้แพ็คเกจจิ้งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 5.ลดการใช้พลังงาน
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวครั้งสำคัญ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกลับมา “บินสูง” อีกครั้ง ด้วยการ “ก้าวกระโดด” ในครั้งนี้!!