“ดอยคำ” ปลุกกระแสรักษ์โลก เร่งสร้างอาณาจักร “มะเขือเทศ” ปั๊มยอดขาย
สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคามใหญ่ของโลก และมนุษย์คือต้นตอทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ เมื่อผลกระทบรุนแรง แบรนด์สินค้า ปรับแผนธุรกิจ บรรจุ "รักษ์โลก" เป็นส่วนหนึ่ง และ "ดอยคำ" เป็นอีกองค์กรที่ Go Green ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ แต่จากนี้ต้องจริงจังกว่าเดิม
กระแสรักษ์โลก ไม่เพียงเป็นเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่อีกมิติ “ความตกลงปารีส” ที่มีพันธกิจและเป้าหมายสำคัญในการร่วมรับผิดชอบปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายองค์กรต้องบรรจุเป้าหมายในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ในแผนขับเคลื่อนธุรกิจด้วย
หากเอ่ยชื่อถึง “ดอยคำ” และมองไปยังรากฐานการทำธุรกิจเพื่อสังคม ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้นยาวนานถึง 3 ทศวรรษแล้ว แต่อดีตการทำกิจกรรมรักษ์โลกทั้งการสร้างพลังงานทดแทน สร้างฝาย ฯ อาจเสียงไม่ดังพอถึงผู้บริโภค
ขณะเดียวกันหากมองภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ทำกิจกรรมที่ใส่ใจและดูแลโลก ล้วนเป็น “กิจกรรมเพื่อสังคม” หรือซีเอสอาร์ เป็นหลัก แต่ภารกิจจากนี้ไป “ดอยคำ” จะ Go Green เชิงรุกผ่านโครงการ “สร้างโลกสีเขียว” ผนึก 12 องค์กรชั้นนำ เช่น อำพลฟูดส์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ไปรษณีย์ไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้บริโภคและสังคมในวงกว้าง
“เราทำกิจกรรมและโครงการเพื่อสร้างสีเขียวมาตั้งแต่ต้น ปัจจุบันการขับเคลื่อนธุรกิจยังเดินตามเแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs 17 ข้อ ซึ่งบริษัททำได้ 16 ข้อ ภายในปีนี้ตั้งเป้าจะทำให้ได้ทั้ง 17 ข้อ” พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าสิ่งที่มุ่งมั่นทำในปี 2565 โดยขาดเพียงสิ่งเดียวคือกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะบริษัทมีกิจกรรมส่วนใหญ่บนที่สูง
นอกจากนี้ เป้าหมายทำให้ครบ 17 ข้อตามแผนพัฒนายั่งยืนระดับโลก “ดอยคำ” ยังเดินหน้าสานเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ทุกตัวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(คาร์บอนไดออกไซต์)ให้เหลือ 0 ภายในปี 5 ปีข้างหน้าด้วย ทุกกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่ให้ความรู้ และปฏิบัติจากเกษตรกรฐานราก เช่น การใช้ปุ๋ยหมัก แทนปุ๋ยเคมี แต่การหมักปุ๋ยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
12 ภาคีเครือข่ายสร้างโลกสีเขียว
ในอนาคต การสร้างโรงงานใหม่จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่ง อาคารและการก่อสร้างจะต้องได้รับมาตรฐาน LEED จากปัจจุบันอาคารสำนักงานมีการปรับปรุงจนได้รับ LEED Gold เป็นต้น
ที่ผ่านมา บริษัทยังมีการทำโครงการ “แกะล้างเก็บ” เป็นการภายในมา 3 ปีแล้ว และคิกออฟสู่สาธารณะ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายผลิตสินค้าเสิร์ฟตลาด บรรจุภัณฑ์กล่องกลายเป็นขยะปริมาณเท่าไหร่ ต้องเก็บคืนกลับมาเท่าจำนวนดังกล่าว โดยไม่จำกัดแค่แบรนด์ของดอยคำเท่านั้น แต่เปิดกว้างแบรนด์อื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการเกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง จึงมีการนำกลยุทธ์การตลาดมาเสริมทัพโดย 1 กล่องดอยคำ นำไปแลกซื้อสินค้าดอยคำได้เลย ทว่า กิจกรรมยังมี Pain Point เพราะผู้บริโภคยังไม่สนใจเท่าที่ควร
“แม้ผู้บริโภคยังไม่ตระหนักในการเก็บกล่องมาล้างและร่วมโครงการ แต่เราจะไม่ยอมแพ้ในการสร้างโลกสีเขียว”
ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจของ “ดอยคำ” ในปี 2565 ความท้าทายใหญ่คือสถานการณ์ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นถึง 20% แต่บริษัทพยายามตรึงราคาสินค้าไว้ เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญอำนาจซื้อ รายได้ที่ลดลง
ทั้งนี้ บริษัทยังปรับตัว 2-3 ประการ เพื่อบริการจัดการต้นทุน ได้แก่ 1.ให้ความสำคัญกับการผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วน 10% โดยกลุ่มน้ำผลไม้มีสัดส่วนใหญ่สุดราว 40% ตามด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง 25% และอื่นๆ 25%
การขยายพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มสมุนไพร ยังขานรับกับตลาดน้ำผลไม้ที่อยู่ในภาวะ “หดตัว” ต่อเนื่องด้วย 2.การสร้างพอร์ตโฟลิโอ “ครอบครัวมะเขือเทศ” ให้เป็นอาณาจักรที่เติบโตขึ้น โดยมีสินค้าทุกหมวดหมู่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จากเดิมมีสินค้าราว 20 รายการ(SKU) เช่น น้ำมะเขือเทศเข้มข้น มะเขือเทศอบแห้ง ไอศกรีมมะเขือเทศ เป็นต้น
“กลุ่มผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเป็นพระเอกของดอยคำ จากนี้ไปบริษัทต้องการสร้างอาณาจักรให้สินค้าแข็งแกร่งขึ้น ไม่ว่าผู้บริโภคคนไหนที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อคิดถึงมะเขือเทศต้องแบรนด์ดอยคำ”
จากแผนดังกล่าว บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท เติบโตอัตรา 2 หลัก จากปี 2564 รายได้อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ และถือเป็นการเติบโตสวนกระแสตลาดด้วย