กลุ่มปตท.-PJW ดันผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกสิ้นเปลืองสู่ตลาดอาเซียน
กลุ่มปตท. ผนึก “PJW” ศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ก้าวสู่ผู้ผลิตไทยลุยตลาดอาเซียน ชี้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้าน คาดคลอดผลิตภัณฑ์ตัวแรกสิ้นปีนี้ เล็งต่อยอดจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ผลิตสินค้าในปี 2566
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด หรือ INNOBIC กล่าวว่า อินโนบิก และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ร่วมกับ บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ศึกษาและหาโอกาสทางธุรกิจในธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ภายใต้การร่วมศึกษาข้อมูลตลาดเครื่องมือแพทย์ การออกแบบและพัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ การศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดในด้านต่างๆ และศึกษากฎเกณฑ์ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
ทั้งนี้ กลุ่มปตท. มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-Curve และการเป็น Medical Hub ของรัฐบาล ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ถือเป็น New S-Curve ที่สำคัญของประเทศไทย โดยทางบริษัท ต้องการให้ความร่วมมือนี้ เป็นการสร้างฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของอาเซียนในประทศไทย สร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยต่อไปในอนาคต
“ตลาดอุตสาหกรรมทางการแพทย์ มีการเติบโต 4-6%ต่อปี โดยทั่วโลกมีมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 16 ล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และที่สำคัญอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยติดอันดับโลก ฉะนั้น หากมีการนำเม็ดพลาสติกมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 5-10 เท่า ดังนั้น เราจะต้องทำ Product Champion จากการสร้างนวัตกรรม”
ดร.ณัฐ อธิวิทวัส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อินโนบิก กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของอินโนบิก คือการพัฒนาธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ให้ประสบผลสำเร็จร่วมกับ IRPC และ PJW ภายหลังจากที่อินโนบิก มีการร่วมทุนในการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ในกลุ่มผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ ที่เป็นวัสดุหลักของการผลิตหน้ากากอนามัยร่วมกับ IRPC ไปก่อนหน้า และร่วมทุนกับพันธมิตรกลุ่มวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อเป็นฐานผลิตในการอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็น Durable Medical Device ความร่วมมือนี้ จะสามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศภูมิภาคต่อไป
“เราสนับสนุนประเทศไทยในด้านความมั่นคงด้วย เพราะมีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ 80-90% ถ้าสามารถผลิตในประเทศไทยเองจะสร้างความมั่นคง เพราะอินโนบิก มีเครือข่ายจากพันธมิตรที่ร่วมลงทุนหรือพันธมิตรที่พูดคุยอยู่ในเรื่องของ R&B ต่างๆ จะมีวัสดุหลายประเภท ที่เราสามารถพัฒนาในประเทศไทย และใช้ส่วนประกอบเม็ดพลาสติกที่ตลาดมีความต้องการสูง ก็จะเลือกผลิตในประเทศไทย”
นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร IRPC เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดเครื่องมือและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มีการเติบโตมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 เป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Medical มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับช่วงปี 2565 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) หรือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 9 ปี ข้างหน้า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ Smart Material กลุ่ม Specialty Plastic หรือ เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ สำหรับผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข (Medical Application) Smart Material ที่ได้คิดค้น วิจัย พัฒนาและผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown วัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ เป็นรายแรกของประเทศ พร้อมทั้งได้จัดตั้ง วชิรแล็บเพื่อสังคม ห้องปฏิบัติการกลางเพื่อทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
“การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในหลายประเทศทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยประสบปัญหาในเรื่องของวัสดุทางด้านการแพทย์ ส่งผลให้วัตถุทางการแพทย์มีความขาดแคลนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในปัจจุบันและในอนาคตด้วย IRPC จะทำให้ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบริษัทฯ ผลืตเม็ดพลาสติกกว่า 40 ปี สามารถพัฒนาพลาสติกเพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งในและต่างประเทศ การวิจัยพัฒนาพลาสติกเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบการทางแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากลผลิตโดยคนไทย จะช่วยขยายห่วงโซ่อุปทานของ IRPC เข้าไปด้วย”
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร PJW เปิดเผยว่า จากทิศทางและโอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่มีการเติบโตทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าสินค้าบางตัวจะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2565นี้ โดยจะเริ่มจากการสั่งผลิต (OEM) สินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายก่อน และหลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) เพื่อก่อสร้างโรงงานและลงทุนเครื่องจักร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปี 2566 ในขณะเดียวกัน ในกรอบ MOU นอกจากจะพัฒนาสินค้าด้วยตัวเองแล้ว ยังจะมีการศึกษาและมองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยในการสนับสนุนและเร่งรัดการเติบโตของบริษัทไปพร้อมๆ กัน
สำหรับโปรดักส์ที่จะออกมาจะเป็นเรื่องของการให้ความชื้นของออกซิเจน เพราะจากการศึกษากับโรงพยาบาล พบว่ากระบวนการล้างฆ่าเชื้อมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการ Single-use ซึ่งวันนี้เริ่มนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในเครือปตท.ผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown สามารถต่อยอดสร้างโปรดักส์ต่างๆ ได้อีก และเมื่อมีการนำเข้าได้ก็ต้องส่งออกได้ ถือเป็นโอกาสทางการตลาด ซื้อหุ้นในเรื่องของบางบริษัทที่จะค้าขายในต่างประเทศได้เราก็จะสามารถส่งออกได้ด้วยเช่นกัน อีกโปรดักส์ คือ ระบบการฟอกล้างไต ซึ่งนโยบายรัฐบาลสนับสนุนเป็นโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ อีกทั้งยังมองในเรื่องของแพคเกจจิ้งกลุ่มฟาร์มาด้วยวัสดุสิ้นเปลือง ผลิตสินค้าต่างๆ ป้อนตลาดอาเซียน เป็นต้น
“เราเป็นพันธมิตรกับกลุ่มปตท.มากว่า 25 ปี โครงการนี้ได้ทำกับ IRPC ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในลักษณะ supplier และค้นพบว่ายังความยากลำบากในการเข้าไปทำความเข้าใจในเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น อินโนบิก มีเครือข่ายและโปรดักส์เยอะจึงเห็นประโยชน์และโอกาสทางการตลาดมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มีมูลค่าหลายหมื่นแสนล้านบาท หากลดการนำเข้าจะทำให้คนไทยได้ใช้ของที่ถูก หากรวมกลุ่มอาเซียนอีกกว่า 600 ล้านคน จะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก”
นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯ มีโรงงานในประเทศจีน พบว่า ตลาดอาเซียนเราเก่งที่สุดในด้านการพัฒนา หากเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น แต่ปัญหาของเราการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต มองว่าหากพัฒนาสินค้า Made in Thailand เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับมากในตลาดโลก สำหรับปัจจัย 3 ด้านที่จะทำให้พระธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จคือ 1. ความรู้ความเข้าใจ 2. Design และ 3. การตลาด