“บอร์ดน้ำแห่งชาติ”จี้อุตฯ ผุดแหล่งสำรองน้ำของตัวเอง

“บอร์ดน้ำแห่งชาติ”จี้อุตฯ  ผุดแหล่งสำรองน้ำของตัวเอง

แม้ลักษณะภูมิอากาศของไทยจะเอื้อต่อการเพาะปลูก และเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่การที่ไทยขาดแหล่งน้ำ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญและมีการแย่งน้ำ เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง ดังนั้น คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)จึงย้ำชัดว่าทุกหน่วยงานให้สำรองน้ำไว้ใช้เอง

พล อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการ พร้อมทั้งตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อประเมินผลคาดการณ์ก่อนเกิดภัย จากนั้นให้ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตรวจสอบพนังกั้นน้ำ อาคาร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขอความร่วมมือกับ การประปาทุกแห่งทุกพื้นที่ บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้มีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้มาใช้น้ำในลุ่มน้ำของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับแผนบริหารจัดการน้ำ

 

“บอร์ดน้ำแห่งชาติ”จี้อุตฯ  ผุดแหล่งสำรองน้ำของตัวเอง

นอกจากนี้ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย

“ส่วนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ได้กำชับให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เร่งบูรณาการข้อมูลและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในเชิงพื้นที่ด้วย สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทั้งงบปกติและงบกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง"

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งปี 2565/66 ภาพรวมคาดว่าจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตรตามแผนเพาะปลูกที่กำหนดไว้

ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก กรมชลประทานได้จัดปฏิทินการเพะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำก่อน เพื่อลดผลกระทบภัยน้ำท่วม พร้อมทั้ง ขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซ่อมบำรุงอาคารสถานที่ควบคุม และเตรียมเครื่องมือเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยจะปฏิบัติตาม 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ร่วมบูรณาการตามกรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และสิ้นสุดฤดู โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย กำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 64/65 พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการเป็นระยะ

อีกทั้ง ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 รวม 2,525 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์ 67,616 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 33.88 ล้าน ลบ.ม. และประชาชนได้รับประโยชน์ 76,004 ครัวเรือน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานยังได้ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการรับมือภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งน้ำทั่วประเทศ (ณ 1พ.ค.65) รวม 46,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ซึ่งในภาพรวมมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2564 ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ กอนช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝน คือ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือนพ.ค.–ธ.ค.65 ที่มีข้อมูลระบุรายพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติในเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด 

รวมถึงการใช้แผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด (มิ.ย. - ส.ค.) เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ นำไปวางแผนเก็บกักน้ำหรือระบายน้ำเกิดความสมดุลมากที่สุด