"โอมาน" ชูกลยุทธ์เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
"การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจำเป็นต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาล ซึ่งการใช้น้ำมันยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้พลังงานมีราคาจับต้องได้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสินแร่ รัฐสุดต่านโอมาน กล่าว
ฯพณฯ ดร.โมฮัมเหม็ด บิน ฮามัด อัล รุมมี (H.E. Dr. Mohammed bin Hamad Al Rumhy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสินแร่ ประเทศโอมาน กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลใน งานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050 ภารกิจพลังงาน เปลี่ยนอนาคต” จัดโดย กระทรวงพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน ปตท. ฐานเศรษฐกิจและสื่อในเครือเนชั่น เผยว่า ในมุมมองของโอมานในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่การใช้พลังงานสะอาดจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาราว 30-40 ปี
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ กลยุทธ์ที่โอมานจะเดินหน้าต่อไปคือการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากภาคการผลิตและอุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม และอื่นๆ มีความสำคัญกว่าการลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิง
ในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่กำลังทำการทดลองและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนอย่างจริงจัง แต่มีหลายประเทศที่วางแผนว่าจะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นคืออุปสรรคด้านการเงิน เนื่องจากเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาแล้วนำกลับลงไปในบ่อกักเก็บมีต้นทุนในการสร้างท่อส่งสูงมาก
แม้ว่าในขณะนี้โอมานจะมีกำไรจากการส่งออกน้ำมันสูงขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น แต่เมื่อราคาน้ำมันเริ่มมีแนวโน้มลดลง โอมานก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป
แน่นอนว่าเทรนด์โลกในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โอมานเองต้องมีส่วนรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ขณะเดียวกันเทรนด์สังคมคาร์บอนต่ำยังถือเป็นโอกาสที่ดีในการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
"ขณะนี้การถกเถียงบนเวทีโลกยังดำเนินต่อไปเพื่อหาโซลูชันในการสร้างความมั่นคงด้านพลังไปพร้อมกับการทำให้ราคาพลังงานจับต้องได้ การกังวลเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งสำคัญแต่ต้องอย่าลืมว่าน้ำมันจะยังเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาในหลายประเทศ"