“พลังงาน” เร่งสร้าง "อีโคซิสเต็ม" พลังงานสะอาดใน “อีอีซี” ดูดการลงทุน
“พลังงาน” เร่งแผนพลังงานชาติ ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เน้นจุดยืนใช้กลยุทธ์ 4D นำประเทศไทยสู่เป้าหมาย “เน็ตซีโร่” เปิดเวทีคนรุ่นใหม่ ตั้งบริษัท “สตาร์ทอัพ” เสนอแนวคิด ย้ำสร้าง "อีโคซิสเต็ม" พลังงานสะอาดใน “อีอีซี” ดูดนักลงทุน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” หัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่เป้าหมายการลด GHG” ว่า ในการปล่อยคาร์บอนสู่อากาศที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลทั่วโลกพบว่าปี 2020 มีกว่า 4 หมื่นล้านตัน ลดลงจากปี 2019 แค่เล็กน้อยจากราว 5 หมื่นกว่าล้านตัน
ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายการวางแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อควบคุมสภาวะโลกร้อนถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว ถือเป็นวาระสำคัญของทุกประเทศ และได้มีการประกาศเป้าหมายปี 2050-2065 ในเวที COP26 โดยสหภาพยุโรป (อียู) ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 8 แสนดอลลาร์ เพื่อลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ การปรับปรุงอาคาร สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และสถานีชาร์จไว้ที่ที่ 1 ล้านแห่ง เป็นต้น
ส่วนอเมริกา หลังประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ก็ได้ประกาศนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียนถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีนโยบายอีวีเป็นหลัก ทั้งพลังงานสะอาด แบตเตอรี่ รถอีวีที่ใช้ในภาครัฐ
ในขณะที่ประเทศไทย ปี 2564 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 244.5 ล้านตัน และในปริมาณ 157 ล้านตัน มาจากภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ที่เหลือราว 36% มาจากภาคอุสาหกรรม ภาคเกษตร เป็นต้น ดังนั้น ในจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาจากการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล แม้ขณะนี้จะยังอยู่ในช่วงของการตั้งเป้าแต่ยังไปไม่ถึงปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เพราะยังต้องพึ่งพาฟอสซิลอยู่ แต่ต้องไม่มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังก็เป็นฟอสซิลที่สูงอยู่ ในขณะที่ภาคขนส่ง รถส่วนใหญ่ยังเป็นรถสันดาป โดยเฉพาะรถกระบะ รถบรรทุกที่ยังใช้น้ำมันดีเซลวันละ 65 ล้านลิตร จากจำนวน 100 ล้านลิตร และมที่เหลือ 35% เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันเบนซิน โดยรวมภาคขนส่งมีรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 1% ซึ่ง 96% ยังเป็นรถบรรทุก
ดังนั้น การจะเร่งประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero รัฐบาล จึงต้องทำกรอบแผนพลังงานชาติ เป็นยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้ง การลงทุนเทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. สนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยคาร์บอนภายในปี 2065-2070 2. สร้างศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนของผู้ประกอบการของไทย สามารถรับตัวเข้าสู่การลงทุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามทิศทางโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการลงทุนในนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ 3. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการปลดปล่อย GHG ของประเทศระยะยาว
ทั้งนี้ แนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ อาทิ 1. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่นอ้ยกว่า 50% 2. ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียวผ่าน EV ตามนโยบาย 30@30 3. ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้การใช้พลังงานมากกว่า 30% และ 4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
“การส่งเสริมมาตรการด้านอีวีต่างๆ ทั้งภาษีละไม่ใช่ภาษีให้คนซื้อมากขึ้น ต้องทำต่อเนื่อง และต้องสนับสนุนเกิดสถานีชาร์จ จากการสำรวจพบว่า 60% ต้องการชาร์จที่บ้าน จึงต้องปรับเปลี่ยนระบบไฟ และเพิ่มสถานีชาร์จตามเส้นทาง ปัจจุบันรถอีวีสามารถวิ่งได้ถึง 300 กิโลเมตร จึงต้องเพิ่มตามปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ ทุกวันนี้มีสถานีชาร์จอยู่ 1,000 แห่ง ตั้งเป้า 2 หมื่นแห่ง อีก 8 ปี”
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปพลังงานสะอาดถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เหมือนโทรศัพท์รับบบ2 จี มาระบบ 5จี โดยช่วงแรกจะมีปัญหาต้นทุนสูง จึงต้องมีการดำเนินการดังนั้น สิ่งที่ต้องกระตุ้นในช่วงนี้ เพื่อนำสู่ Net Zero ต้องมาตการ 4D ประกอบด้วย
1. D-carbonization ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแทนถ่านหิน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่าน Solar กำหนดไว้ในแผนใหม่ที่ 4,500 เมกะวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่าน 9 เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดไว้ที่ 20 ปี เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนจาก Solar rooftop บ้าน-คอนโด 200 เมกะวัตต์ และจากโซล่าฟาร์ม 3,300 เมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจาก 300 เมกะวัตต์ไปถึง 1,500 เมกะวัตต์
เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรมเป็น 800 เมกะวัตต์ สร้างโรงงานไฟฟ้าขยะขึ้นโรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ ตอนนี้ดำเนินการให้ไปแล้ว 105 เมกะวัตต์ จากชีวมวล จากวัสดุเหลือใช้เกษตรมาแปรเปลี่ยนเป็นพืชพลังงานตรงนี้มาเป็นเชื้อเพลิง และซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการผลิตเยอะเราถูกจำกัดในเรื่องของการสร้างเขื่อน
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี CCUS การกักเก็บก๊าซคาร์บอนและเอามาใช้ประโยชน โดยขณะนี้ ปตท.สผ.ได้เริ่มเก็บก๊าซคาร์บอนในแท่นขุดเจาะก๊าซปิโตรเลียมและน้ำมันในอ่าวไทย คือแท่นอาทิตย์ จะเป็นตัวอย่างโครงการนำร่อง การทำกรีนไฮโดรเจน โดยเอาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาเปลี่ยนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนและกักเก็บเอาไว้และปล่อยมาผลิตกระแสไฟให้เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
2. D-digitalization โดยนำอินเตอร์เน็ตออฟติงมาใช้ในภาคพลังงาน เรียกว่า Internet of Energy โดยใช้ AI ช่วยเรื่องการจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลทำ ดาต้า แพลตฟอร์ม ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบสมาร์ทกริดในพื้นที่ต่างๆไปถึง Smart สายส่งอัจฉริยะ ช่วยดูว่าใช้ไฟไปเท่าไหร่และมีหน่วยงานเก็บเงิน แต่มิเตอร์สมัยใหม่จะเก็บและรับเงินจากไฟฟ้าส่วนเกินที่มาจากหลังคาและชาร์จไฟกลับเข้าระบบมิเตอร์เป็น Digital Twin เป็นต้น
3. D-centralization ถือเป็นการใช้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กเริ่มต้นที่ 3-10 เมกกะวัตต์ ที่เปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็นระบบไมโครกริดสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบจ่ายไฟระบบใหญ่ สามารถขายไฟฟ้าออนไลน์ ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดมนราคาที่ถูกลง
และ 4. D-regulation เมื่อทั้ง 3D สำเร็จ ทั้ง ปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ๆ กฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 30 ปี จะต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่
“เมื่อวานประชุมคณะกรรมการร่วม บูรณาการการลงทุนในการพัฒนาพลังงานสะอาดทุก 3 เดือน เกิดเป็นศูนย์ต้นแบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เกิดจากความผันผวนความไม่แน่นอนจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงแดด ลม หากไม่มีก็จะผลิตไฟฟ้าไม่ได้ จึงต้องพัฒนาแบตเตอรี่เข้าไปรองรับ และระบบที่พัฒนาจะต้องควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ซี่งรัฐบาลจะสนับสนุนทั้ง 3 การไฟฟ้าในเรื่องของเงินลงทุนให้คุ้มค่าที่สุด”
นอกจากนี้ การสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าอีวี จะต้องรองรับการเพิ่มจำนวน ทั้ง 3 การไฟฟ้า จะต้องมีการใช้แอปพลิเคชั่นร่วมกันได้ ตอนนี้มี 5 บริษัท รวม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA จะสามารถเช็คสถานีชาร์จได้ในแอปพลิเคชั่นเดียว และกลางปี 2566 จะสามารถใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันได้
นายกุลิศ กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างออกกฎระเบียบ รองรับการซื้อไฟฟ้าสะอาดของพลังงานหมุนเวียนสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ต้องการผลิตสินค้าจากไฟสะอาด 100% หรือ ER100 เท่านั้น อีกหน่อยผลิตสินค้าแล้วส่งออกในประเทศอียูไม่ได้ เราต้องออกกฏมารองรับว่าใครที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดของพลังงานหมุนเวียนสามารถซื้อขายไฟได้โดยตรงไม่ต้องผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว
“เรากำลังแปลงแผนพลังงานชาติไปสู่ภาคปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ช่วยกัน เอกชน รัฐ ต้องแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน รวมถึงการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ที่ต้องพิจารณาร่วมกันลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะเด็กยุคใหม่ มีความคิดหลากหลาย แต่อาจไม่มีประสบการณ์การเงินและการตลาด จึงต้องร่วมกันช่วยกันเพื่อประโยชน์ประเทศ”