“พลังงาน” ขอเงินกู้2พันล้าน ตรึงราคาแอลพีจีครัวเรือน
“พลังงาน” ขอ 2,000 ล้าน จากเงินกู้5แสนล้าน อุ้มราคาแอลพีจีครัวเรือนถึง 31 ม.ค.นี้ ผวาราคาตลาดโลกพุ่งต่อขอขยับราคาแบบขั้นบันได
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้เสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จำนวน 2,000 ล้านบาท แล้ว เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถังได้ถึงประมาณวันที่ 31 ม.ค.2565 ซึ่งการขอกู้เงินแยกบัญชีจะไม่รวมค่าขนส่ง แต่จะช่วยเฉพาะก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน และต้องมีการสร้างกลไกว่าภาคครัวเรือนจะดูแลอย่างไร
สืบเนื่องจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงผันผวน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนต.ค.2564 เหลือเงินกองทุนอยู่ 7,144 ล้านบาท และไม่เพียงพอที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ใช้ก๊าซ แอลพีจีภาครัวเรือนอีกต่อไป โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เพื่อพยุงราคาก๊าซหุงต้มแอลพีจี ภาคครัวเรือน (ไม่รวมค่าขนส่ง) ไปแล้วประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)จึงเห็นสมควรที่จะแยกบัญชีระหว่างเงินช่วยเหลือน้ำมันกับก๊าซแอลพีจีออกจากกัน
“ต้องยอมรับว่าถ้าจำนวนเงินที่กู้มาหมด และหากราคาก๊าซยังมีราคาที่สูงอยู่ก็จะต้องมาเริ่มดูว่าจะขยับราคาขึ้นอย่างไร โดยจะค่อยๆ ขยับขึ้นเป็นขั้นบันได เพราะช่วยมา 2 ปีกว่าแล้วยืนยันว่าจะไม่ขึ้นทีเดียว 70-80 บาทแน่นอน แต่จะค่อยๆ ขยับให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม เพื่อไม่กระทบต่อประชาชนภาคครัวเรือน"
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ออกบัตรสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจริง ถือเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเสริมเข้าไปด้วย โดยจะดูให้ครบวงจรโดยเฉพาะคนที่ถือบัตรสวัสดิการ ถือเป็นแผนวิกฤติในส่วนที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบ
นายกุลิศ กล่าวว่า เดิมกระทรวงพลังงานช่วยเหลือก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือนจากวิกฤติโควิด-19 รอบแรกช่วงเดือนมี.ค.2563 ที่ราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ราว 363 บาทต่อถัง กระทรวงฯ ได้พยุงมาที่ราคา 318 บาทต่อถังหรือจ่ายส่วนต่างที่ 45 บาทต่อถัง จนมาจึงปัจจุบันที่ราคาก๊าซหุงต้มที่ราคาของโลกไม่ได้อยู่ที่ราคา 363 บาทต่อถัง แต่ขึ้นไปอยู่ที่ 390-400 บาทต่อถัง ซึ่งถือว่ากระทรวงฯ แบกรับค่าใช้จ่ายโดยช่วยเหลือเกินราคา 45 บาทต่อถังไปแล้ว แต่ก็ยังช่วยตรึงไว้ที่ราคา 318 บาท ส่งผลให้เงินกองทุนจึงหายไป 1.9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนทั้งราคาน้ำมัน ราคาก๊าซแอลพีจีและการรักษาค่าเอฟที ในส่วนของค่าไฟฟ้า และดูแลประชาชนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และได้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด