"กบน." เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้าน อุ้มดีเซล 30 บาท
กบน.เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท อุ้มราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เตรียมนำเสนอหลักเกณฑ์การกู้เงินให้ที่ประชุม กพช. โดยนายกฯ นั่งเป็นประธาน วันที่ 5 พ.ย.นี้ ก่อนชงครม.อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป โฆษกฯ แจงไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้ารัฐ ยันใช้เงินตามวัตถุประสงค์และข้อกฎหมาย
รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำเสนอในการพิจารณาวาระสำคัญในเรื่องของกรอบการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่ให้สิทธิ์กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกู้เงินเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีน้ำมันกลุ่มดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ซึ่งกำหนดให้ส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา อยู่ที่ 0.15 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 อยู่ที่ 0.25 บาทต่อลิตร โดยยังคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ในการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลัง จะต้องบรรจุกรอบเงินกู้เข้าไปรวมอยู่ในแผนก่อหนี้สาธารณะ โดยขณะนี้เงินกองทันน้ำมันฯ เดือนพ.ย.2564 เหลืออยู่ประมาณ 6,600 ล้านบาท จะสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้ถึงสิ้นปี 2564 เท่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์น้ำมันยังมีความผันผวน ดังนั้น เงินกู้ 2,000 ล้านบาท จะเข้ามาช่วยกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาน้ำมันไปได้ประมาณเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้จะหมดฤดูหนาว คาดว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้น
ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น ได้ตรวจสอบกับสำนักงานกองทุนฯ แล้ว พบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งตั้งแต่ตั้งกองทุนฯ มา ยังไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้านำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างเคร่งครัด โดยในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ให้กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการดำเนินงานให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่กพช. กำหนดเท่านั้น
“การเตรียมกู้เงินในครั้งนี้ ก็เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท เนื่องจากน้ำมันดีเซล เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจหากปล่อยให้มีราคาสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้เงินกู้อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนที่มีข่าวการโอนเงินจากกองทุนฯ ส่งเป็นรายได้ให้รัฐบาลนั้น สำนักงานกองทุนฯ ขอยืนยันว่า ไม่มีการโอนเงินตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด โดยการใช้เงินกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นไปตามข้อกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และเป็นไปตามมติ กพช.เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน อย่างเช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรในขณะนี้ และการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ครัวเรือนตลอดทั้งปี 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19” นายสมภพ กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. นายสุพัฒนพงษ์ จะนำหลักเกณฑ์การกู้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานกพช. รับทราบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป